คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำโทรศัพท์มือถือของกลางมาใช้สำหรับติดต่อซื้อขายยาเสพติดให้โทษอย่างไร โทรศัพท์มือถือจึงไม่ใช่เครื่องมือเครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33(2) จึงไม่อาจริบได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกว่ากล่าวและสั่งคืนแก่เจ้าของได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 399 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 9.235 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ตำบลดอนประดู่ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวพร้อมธนบัตร 3,000 บาทที่จำเลยได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและโทรศัพท์มือถือยี่ห้อฟิลิปส์และยี่ห้อโนเกียรวม 2 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องมือและเครื่องใช้ที่จำเลยใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งจำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 14 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย7 ปี ให้คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 399 เม็ด เงินสดจำนวน 3,000 บาท โทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาพอที่จะรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีสมชายอนันต์ศุภมงคล ผู้ร่วมจับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความว่าวันเกิดเหตุสายลับโทรศัพท์แจ้งต่อพยานว่า มีชายไทยไม่ระบุชื่อจะนำเมทแอมเฟตามีนจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปส่งให้คนในพื้นที่อำเภอปากพะยูนจังหวัดพัทลุง โดยใช้รถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า สีแดง หมายเลขทะเบียนบพ 3030 สงขลา เป็นยานพาหนะ พยานกับพวกจึงวางแผนจับกุมโดยให้สิบตำรวจเอกวิรัช ฤทธิเดช ไปแอบซุ่มดูอยู่ที่บริเวณสี่แยกห้วยลึกปากทางเข้าอำเภอปากพะยูน ส่วนพยานกับพวกแอบซุ่มดูอยู่บริเวณหน้าวัดดอนประดู่ต่อมาเวลา 15.30 นาฬิกา พยานได้รับแจ้งทางวิทยุจากสิบตำรวจเอกวิรัชว่า รถยนต์กระบะตามที่ได้รับแจ้งจากสายลับแล่นผ่านสี่แยกห้วยลึกมาแล้วมุ่งหน้าไปอำเภอปากพะยูน เมื่อรถยนต์กระบะดังกล่าวมาถึงจุดที่พยานกับพวกอยู่จึงเรียกให้หยุด ปรากฏว่ารถยนต์กระบะดังกล่าวมีจำเลยเป็นคนขับ และมีการตรวจค้นอย่างไม่ละเอียด เพื่อหาอาวุธปืนเป็นการป้องกันอันตรายเบื้องต้น จากนั้นให้สิบตำรวจเอกวิจิตร เกื้อรุ่ง ขับรถของจำเลยแทนและให้จำเลยนั่งคู่ทางด้านหน้าโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจนั่งประกบจำเลยด้วยและพาไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพะยูน เมื่อไปถึงสถานีตำรวจสิบตำรวจเอกวิจิตรจะตรวจค้นจำเลย จำเลยหยิบธนบัตรจำนวน 3,000 บาท และเมทแอมเฟตามีน 2 ห่อ มอบให้เจ้าพนักงานตำรวจ นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจยังยึดโทรศัพท์มือถือได้ 2 เครื่องตรวจนับเมทแอมเฟตามีนแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 399 เม็ด ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำเลยให้การรับสารภาพ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 และโจทก์มีร้อยตำรวจเอกชำนาญ คงชู พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่าชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.7 เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองต่างเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เหตุที่จะระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะเบิกความปรักปรำจำเลยจึงไม่มีในชั้นจับกุม เมื่อถูกแจ้งข้อหาว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพทันที ในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมายจ.7 มีรายละเอียดตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำแถลงการณ์ปิดคดีของจำเลยฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2543 เชื่อได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจมิได้ถูกกดดันตามที่จำเลยฎีกา และในชั้นพิจารณาจำเลยก็ยังคงยืนยันให้การรับสารภาพอีก พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง สำหรับเรื่องระยะเวลาและระยะทางที่จำเลยใช้ในการขับรถตามที่ปรากฏจากคำเบิกความของพยานโจทก์นั้นเป็นเพียงระยะเวลาและระยะทางโดยประมาณเท่านั้น ไม่ถึงกับเป็นข้อพิรุธตามที่จำเลยฎีกาแต่ประการใด และแม้จะได้ความว่าก่อนเกิดเหตุได้มีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย แต่จำเลยไม่มาตามนัดและจำเลยไม่โยนเมทแอมเฟตามีนทิ้งเมื่อเห็นเจ้าพนักงานตำรวจนั้นล้วนแต่เป็นเรื่องอยู่ในความรู้เห็นของจำเลย คำเบิกความของพยานโจทก์จึงหาเป็นพิรุธตามที่จำเลยฎีกาไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ทางนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าโทรศัพท์มือถือของกลาง2 เครื่อง จำเลยได้นำมาใช้สำหรับติดต่อซื้อขายยาเสพติดให้โทษในคดีนี้อย่างไร โทรศัพท์มือถือของกลางจึงไม่ใช่เครื่องมือเครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32 และ 33(2) จึงยังไม่อาจริบได้ตามขอ ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกว่ากล่าวและสั่งคืนแก่เจ้าของ”

พิพากษายืน ให้คืนโทรศัพท์มือถือของกลางแก่เจ้าของ

Share