คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505(ฉบับเก่า) ยังมีผลบังคับใช้อยู่แม้ต่อมาพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526(ฉบับใหม่) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2526 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ (ฉบับเก่า) แต่การยื่นคำขอรับบัตรโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนมีสัญชาติไทย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ (ฉบับใหม่)ก็ยังบัญญัติเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม โดยมาตรา 14 ได้ระวางโทษหนักกว่าโทษตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ (ฉบับเก่า) ดังนั้น พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ (ฉบับใหม่) จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยต้องใช้พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ (ฉบับเก่า) มาตรา 17 มาบังคับใช้แก่การกระทำความผิดของจำเลย ซึ่งมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี จึงมีอายุความเพียง5 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2535 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 จึงเลยกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำผิด คดีจึงขาดอายุความ ต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225
การที่จำเลยซึ่งไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าตนมีสัญชาติไทย เพื่อขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน และวันเวลาเดียวกันจำเลยได้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในคำขอมีบัตรใหม่ซึ่งเป็นเอกสารราชการและมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยแล้วใช้ใบคำขอมีบัตรใหม่ดังกล่าวยื่นต่อเจ้าพนักงานเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่นั้น เป็นการกระทำในวันเวลาเดียวกันต่อเนื่องกัน มีเจตนาเดียวกันที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลย จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความิได้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองและ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้อ้างและแสดงตนยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 ปลัดอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนว่า จำเลยชื่อนายเหม่า แซ่ห่าง เป็นผู้มีสัญชาติไทย เพื่อขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ความจริงจำเลยคือนายเลาะเมาะ แซ่ม้าซึ่งอาจทำให้เจ้าพนักงานและกรมการปกครองเสียหายกับตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยได้อ้างและแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยชื่อนายเหม่า แซ่หาง เป็นผู้มีสัญชาติไทยลงในคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นเอกสารราชการมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานของที่ว่าการอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพิจารณาอนุมัติและทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย ความจริงแล้วจำเลยไม่ใช่นายเหม่า จำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายวิบูลย์ ที่ว่าการอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และกรมการปกครอง แล้วจำเลยใช้ใบคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยื่นต่อเจ้าพนักงาน เพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เจ้าพนักงานและกรมการปกครอง กับเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 เวลากลางวันจำเลยซึ่งเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้อ้างและแสดงตนยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นนายเหม่า แซ่หาง โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเดิม ซึ่งเป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าวแล้วต่อเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 ปลัดอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับเรื่องขอทำบัตรประจำตัวประชาชนว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยเพื่อขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน ความจริงแล้วจำเลยคือนายเลาะเมาะ แซ่ม้า ถือใบสำคัญประจำตัวประชาชนคนต่างด้าว ซึ่งอาจทำให้เจ้าพนักงาน ที่ว่าการอำเภอหางดงและกรมการปกครองเสียหายกับตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้อ้างและแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยชื่อนายเหม่า แซ่หาง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ลงในคำขอมีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นเอกสารราชการมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานของที่ว่าการอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพิจารณาอนุมัติและทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย ความจริงแล้วจำเลยไม่ใช่นายเหม่า แซ่หาง จำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางคำมูลที่ว่าการอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และกรมการปกครอง แล้วจำเลยใช้ใบคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยื่นต่อเจ้าพนักงานเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ ขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เจ้าพนักงานและกรมการปกครอง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 4, 14ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268, 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานผิด 2 กระทง ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 6 เดือน ความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและฐานใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวผิด 2 กระทง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 ประกาศใช้หลังจากจำเลยกระทำผิด กฎหมายดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้แก่จำเลยหรือไม่เห็นว่า ขณะจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มีผลใช้บังคับอยู่ แม้ต่อมาพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2526 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 แต่การยื่นคำขอรับบัตรโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนมีสัญชาติไทย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ก็ยังบัญญัติเป็นความผิดอยู่เช่นเดิมโดยที่พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ได้ระวางโทษไว้หนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 ดังนั้น พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ไม่อาจใช้บังคับแก่จำเลยที่กระทำความผิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 ได้ ต้องใช้พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 บังคับแก่กรณีการกระทำความผิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 ของจำเลยตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา แต่ที่จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 ภายหลังที่พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มีผลใช้บังคับแล้ว พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 จึงมีผลบังคับใช้แก่จำเลยซึ่งกระทำความผิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 ได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนปัญหาประการที่สองที่ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2535 คดีขาดอายุความแล้วหรือไม่นั้น เห็นว่า กรณีที่จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 ต้องนำเอาพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 มาบังคับใช้ เมื่อพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี จึงมีอายุความเพียง 5 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) ดังนั้น เฉพาะที่จำเลยกระทำผิดฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 แต่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยข้อหาดังกล่าวเมื่อวันที่8 เมษายน 2535 จึงเลยกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำผิด คดีเป็นอันขาดอายุความ ส่วนความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและฐานใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง นั้น มีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดข้อหาแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 อีกกรรมหนึ่งนั้น มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(3) คดีจึงไม่ขาดอายุความ เมื่อความผิดฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 ขาดอายุความแล้วจึงต้องยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดฐานนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 และ มาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ด้วยไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อนางคำมูล จันทร์ก๋อง เจ้าพนักงานว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยเพื่อขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 เวลากลางวัน และในวันเวลาเดียวกันจำเลยได้แจ้งให้นางคำมูลเจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในคำขอมีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นเอกสารราชการและมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยแล้วใช้ใบคำขอมีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยื่นต่อนางคำมูล เจ้าพนักงานเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวกระทำในวันเวลาเดียวกันต่อเนื่องกันมีเจตนาเดียวกันที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษเป็นสองกรรมไม่ถูกต้องข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกาศาลฎีกาสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองและ 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดที่จำเลยกระทำเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 ให้ยกฟ้องเฉพาะความผิดฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานคงลงโทษจำเลยเพียงความผิดฐานใช้และอ้างเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 6 เดือน กระทงหนึ่ง และความผิดที่จำเลยกระทำวันที่ 18 เมษายน 2531 ให้ลงโทษฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก6 เดือน อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุกจำเลย 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share