คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4768/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยนั้น จำเลยได้กลืนโคคาอีนลงไปในกระเพาะอาหารของจำเลยแล้ว และจำเลยมีตั๋วโดยสารเครื่องบินเรียบร้อยพร้อมที่จะขึ้นเครื่องบินซึ่งใกล้จะถึงเวลาที่จะบินออกจากท่าอากาศยานกรุงเทพ ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในฐานส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งโคคาอีนแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะเจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำความผิดและจับกุมจำเลยได้เสียก่อน การกระทำของจำเลยจึงเข้าขั้นพยายามตาม ป.อ. มาตรา 80 อันเป็นความผิดฐานพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งโคคาอีนแล้ว
ความผิดฐานมีโคคาอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัมนั้น พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดกำหนดโทษจำคุกและปรับ แต่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดกำหนดโทษจำคุกหรือปรับ ฉะนั้นเมื่อกฎหมายที่แก้ไขใหม่อาจลงโทษปรับเพียงสถานเดียว จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ต้องบังคับใช้ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่แก่จำเลย
ความผิดฐานส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งโคคาอีนนั้น โทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีอัตราโทษเท่ากัน แต่โทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่หนักกว่ากฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องบังคับใช้ตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๖, ๑๗, ๖๘, ๖๙, ๑๐๒ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓, ๗, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๖, ๑๗ วรรคหนึ่ง, ๖๘ วรรคสอง, ๖๙ วรรคหนึ่ง (ที่ถูกมาตรา ๖๙ วรรคสาม) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามส่งออกโคคาอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ วางโทษจำคุก ๒๐ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย ๑๐ ปี ริบโคคาอีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งโคคาอีนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติแล้วว่า ขณะที่ร้อยตำรวจเอก ส. กับพวกเข้าจับกุมจำเลยนั้น พบจำเลยที่บริเวณชั้น ๓ ของอาคารผู้โดยสารขาออก โดยขณะนั้นจำเลยได้กลืนโคคาอีน ลงไปในกระเพาะอาหารของจำเลยแล้วและจำเลยมีตั๋วโดยสารเครื่องบินเรียบร้อยพร้อมที่จะขึ้นเครี่องบินซึ่งใกล้จะถึงเวลาที่จะบินออกจากท่าอากาศยานกรุงเทพอีกด้วย ถือได้ว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดในฐานส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งโคคาอีนแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะเจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำความผิดของจำเลยและจับกุมจำเลยได้เสียก่อน ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเข้าขั้นพยายาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ อันเป็นความผิดฐานพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งโคคาอีนแล้ว หาใช่เป็นเพียงขั้นตระเตรียมการไม่
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕ ) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๘ และมาตรา ๒๐ ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ มาตรา ๖๘ และมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน กล่าวคือ ในความผิดฐานมีโคคาอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง, ๖๙ วรรคสาม เดิมมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสองแสนบาท แต่มาตรา ๖๙ วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ กรณีโคคาอีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงหนึ่ร้อยกรัม มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี หรือปรับ ตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อโคคาอีนในคดีนี้มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๓๗.๒๑๔ กรัม เห็นได้ว่า แม้โทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่จะมีอัตราโทษเท่ากันและโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะหนักกว่ากฎหมายเดิมก็ตาม แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่อาจลงโทษปรับเพียงสถานเดียวก็ได้ กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ต้องบังคับใช้ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ และในความผิดฐานส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งโคคาอีน ตามมาตรา ๑๖ เดิม, ๖๘ วรรคสองเดิม มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบปีถึง จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท แต่ตามมาตรา ๑๖ ที่แก้ไขใหม่, ๖๘ วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองล้านบาทถึงห้าล้านบาท เห็นได้ว่าแม้โทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่จะมีอัตราโทษเท่ากัน แต่โทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่หนักกว่ากฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องบังคับใช้ตาม กฎหมาที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานมีโคคาอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง, ๖๙ วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) และในความผิดฐานพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งโคคาอีนจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๖ (เดิม) , ๖๘ วรรคสอง (เดิม) ประกอบพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับ ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ ส่วนโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share