คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1373/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ใบสมัครบัตรวีซ่า ซึ่งจำเลยที่ 1 ระบุในช่องการชำระเงินว่าให้โจทก์หักจากบัญชีประเภทออมทรัพย์ สาขาเขาย้อย โดยระบุหมายเลขบัญชีไว้ และจำเลยที่ 1ยังมีหนังสือแจ้งผู้จัดการโจทก์ สาขาเขาย้อย ให้หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ดังกล่าวในการชำระค่าสินค้าและบริการที่เกิดจากการใช้บัตรวีซ่าด้วย ทั้งตามใบแจ้งยอดบัญชีโจทก์ก็แจ้งจำเลยที่ 1 ว่าจะตัดบัญชีตามหมายเลขบัญชีที่ระบุไว้ในใบสมัคร ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิหักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามหมายเลขบัญชีดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีสิทธิหักเงินจากบัญชีประเภทอื่น การที่โจทก์หักเงินจากบัญชีอื่นโดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมจึงเป็นการไม่ชอบ ต้องถือว่าโจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้ายในวันที่มีการหักเงินออกจากบัญชีดังกล่าวโดยชอบ อันจะเป็นการรับสภาพหนี้ที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) เมื่อเริ่มนับอายุความใหม่จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีคดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า หลังจากเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์แล้วจำเลยทั้งสองนำบัตรไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ และเบิกเงินสดล่วงหน้า โจทก์ได้ส่งใบแจ้งยอดบัญชีประจำงวดเดือนพฤศจิกายน 2538 ถึงเดือนกันยายน 2539 ไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระ 1 ครั้ง จำนวน 115.91 บาท เมื่อหักชำระหนี้แล้ว ณ วันที่ดังกล่าว จำเลยทั้งสองยังเป็นลูกหนี้โจทก์เป็นเงิน 128,924.63 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 22 ต่อปี ของต้นเงิน 91,645.99บาท ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันฟ้องเป็นค่าดอกเบี้ย 10,661.18 บาทรวมเป็นเงิน 139,585.81 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน139,585.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 22 ต่อปี ในต้นเงิน 91,645.99 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ยอดหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้องเพราะรวมเบี้ยปรับและดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะเข้าไปด้วย จำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 เป็นการฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีแล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำเงินจำนวน 115.91 บาท ไปชำระแก่โจทก์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 89,933.96 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี จากต้นเงิน 88,532.88 บาท นับแต่วันที่ 26พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2539 และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2539 เป็นเงิน 3.31 บาท และเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540เป็นเงิน 115.91 บาท คิดหักให้ในวันดังกล่าวด้วย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาทต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง คู่ความจึงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยทั้งสองเป็นสมาชิกบัตรเครดิตกรุงศรี-วีซ่า ของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบัตรหลัก จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของบัตรเสริมตามใบเสร็จเป็นสมาชิกบัตรกรุงศรี-วีซ่า เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ระหว่างวันที่ 18 ถึง 24ตุลาคม 2538 จำเลยทั้งสองนำบัตรเครดิตดังกล่าวไปใช้เบิกเงินสดจากโจทก์ ซื้อสินค้าและบริการ หลังจากโจทก์จ่ายเงินทดรองแทนจำเลยทั้งสองและส่งใบแจ้งยอดหนี้เรียกเก็บเงินไปยังจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินคืนโจทก์ เงื่อนไขการชำระเงินในการใช้บัตรเครดิตดังกล่าว จำเลยที่ 1 ตกลงให้หักเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีกับธนาคารโจทก์ สาขาเขาย้อย เลขบัญชีที่ 186-1-05216-9 ตามใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรกรุงศรี-วีซ่า เอกสารหมาย จ.3 และตามหนังสือแจ้งผู้จัดการโจทก์สาขาเขาย้อย เรื่องยินยอมให้หักเงินจากบัญชีดังกล่าว เอกสารหมาย จ.16 ซึ่งมีการหักบัญชีของจำเลยที่ 1 หลายครั้งตามเอกสารหมาย จ.5 การหักบัญชีดังกล่าวสองครั้งหลังหักเงินจากบัญชีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 คู่ความทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าเป็นการหักเงินจากบัญชีโดยชอบ ส่วนการหักเงินจากบัญชีอื่นนอกจากบัญชีเลขที่ดังกล่าวข้างต้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 จำเลยที่ 1 มิได้ให้ความยินยอมมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์หักบัญชีอื่นของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 ชอบหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามเงื่อนไขผู้ถือบัตรข้อ 13 ในใบสมัครสมาชิกบัตรกรุงศรี-วีซ่าเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จะระบุว่า “เมื่อมีการเรียกเก็บเงินเพื่อชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตร ผู้ถือบัตรยินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีฝากประจำหรือบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือบัญชีอื่นใดที่ผู้ถือบัตรมีกับธนาคาร แม้การหักบัญชีนั้นจะทำให้ผู้ถือบัตรตกเป็นผู้เบิกเงินเกินบัญชี” ก็ตาม ก็เป็นการระบุไว้โดยรวม ๆ ว่าธนาคารมีสิทธิ์หักเงินของผู้ถือบัตรจากบัญชีใดบ้าง ส่วนที่จะให้มีการหักเงินจากบัญชีใดนั้นก็ระบุไว้ในช่องการชำระเงินในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรกรุงศรี-วีซ่าอีกต่างหาก และจำเลยที่ 1 ก็ได้ระบุไว้ในช่องการชำระเงินในเอกสารหมาย จ.3ถึงการชำระเงินว่ายินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีประเภทออมทรัพย์ สาขาเขาย้อยบัญชีเลขที่ 186-1-05216-9 และจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) สาขาเขาย้อย แจ้งการยินยอมให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) หักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 186-1-05216-9 ชื่อบัญชีนายปรีชา เกตุทอง ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)สาขาเขาย้อย ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการซึ่งเกิดจากการใช้บัตรกรุงศรี-วีซ่า ที่ธนาคารได้ออกให้… ตามเอกสารหมาย จ.16 ทั้งตามใบแจ้งยอดบัญชีเอกสารหมาย จ.5โจทก์ก็แจ้งจำเลยทั้งสองว่า โจทก์จะตัดบัญชีของจำเลยที่ 1 เลขที่ 186-1-05216-9ซึ่งเลขบัญชีดังกล่าวเป็นเลขบัญชีของจำเลยที่ 1 สาขาเขาย้อย ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรกรุงศรี-วีซ่า ของจำเลยทั้งสองได้จากบัญชีประเภทออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 186-1-05216-9 สาขาเขาย้อย เท่านั้นไม่มีสิทธิที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากอื่นของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์หักเงินจากบัญชีอื่นของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 115.91 บาท โดยมิได้หักจากบัญชีประเภทออมทรัพย์ สาขาเขาย้อย บัญชีเลขที่ 186-1-05216-9 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยินยอมจึงไม่ชอบ และไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้บางส่วน อันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) ดังนั้น ต้องถือว่าโจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 อันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่เมื่อนับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องนั้น เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share