คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำเนาบันทึกการรับเช็คซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 มีข้อความว่าโจทก์ได้รับเช็คของบริษัท พ. จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการนำมามอบชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์นั้นถือเป็นการชำระหนี้โดยจำเลยที่ 1 แม้จะชำระด้วยเช็คของบริษัท พ. ก็ไม่ถือว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ชำระหนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสองรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้เมื่อวันที่ 29พฤษภาคม 2539 อายุความจึงสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) และ 193/15 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกค่าซื้อสินค้าจากจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2541 ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่29 พฤษภาคม 2539 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าสินค้าเป็นเงิน400,149.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 326,006.80 บาท (ที่ถูก 326,066.80 บาท) นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าไปจากโจทก์ แต่ชำระราคาบางส่วนด้วยเช็คของบริษัทพงวดีคอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด 7 ฉบับ รวมเป็นเงิน 123,497.57 บาท คงค้างชำระเพียง 202,509.23 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพราะไม่มีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยไว้ และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่ส่งมอบสินค้า คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 278,677.69บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 67,482.67 บาท 124,473.10 บาท และ 86,721.92 บาท นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2537 วันที่ 29 ธันวาคม 2537และวันที่ 13 มกราคม 2538 ตามลำดับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าสินค้าโจทก์รวม 326,066.80 บาท ตามสำเนาใบส่งของเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการนำเช็คของบริษัทพงวดี คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์แต่เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินได้เพียง 6 ฉบับ เป็นเงิน 105,855.06 บาท ตามสำเนาบันทึกการรับเช็คเอกสารหมาย จ.6 โจทก์จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ คงเหลือยอดหนี้ค้างชำระ 200,000 บาทเศษ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าสินค้าแก่โจทก์เป็นเงิน 278,677.69 บาท เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ยอดหนี้ตามฟ้องมีจำนวน 326,066.80 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว 105,855.06 บาท คงเหลือยอดหนี้ค้างชำระอยู่เพียง 220,211.74 บาทมิใช่ 278,677.69 บาท การที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่ามีการนำเงินตามเช็คที่เรียกเก็บเงินได้จำนวน 58,465.95 บาท ไปหักชำระหนี้ตามบิล 4 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.8 ทั้ง ๆที่โจทก์มิได้กล่าวถึงหนี้จำนวนนี้มาในฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การนำเงินจำนวน58,465.95 บาท ไปหักจากยอดหนี้ตามบิล 4 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าเป็นจริงตามนั้น ฉะนั้นเมื่อมีการชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแล้วโจทก์จึงมิได้กล่าวถึงยอดหนี้ดังกล่าวมาในฟ้อง ยังคงเหลือเงินที่จะนำมาหักชำระหนี้ได้อีก 47,389.11 บาท โจทก์นำไปหักจากยอดหนี้บางส่วนตามสำเนาบิลเอกสารหมาย จ.3 คงเหลือยอดหนี้ค้างชำระ67,482.67 บาท เมื่อรวมกับหนี้ที่ค้างชำระตามสำเนาใบส่งของเอกสารหมาย จ.4 และจ.5 จึงเป็นยอดหนี้ค้างชำระ 278,677.69 ทั้งหนี้ในส่วนของต้นเงินที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้มีจำนวน 326,006.80 บาท (ยอดเงินที่ถูกต้อง 326,066.80 บาท) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 278,677.69 บาท จึงไม่เกินคำขอและไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรกแต่อย่างใด

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาบันทึกการรับเช็คตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 29พฤษภาคม 2539 มีข้อความว่า โจทก์ได้รับเช็คของบริษัทพงวดี คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัดจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำมามอบชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ จึงเป็นการชำระหนี้โดยจำเลยที่ 1 แม้จะชำระด้วยเช็คของบริษัทพงวดี คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด ก็ไม่ถือว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ชำระหนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสองรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 อายุความจึงสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ โดยให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) และ 193/15 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2541 ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ 29พฤษภาคม 2539 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share