แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์จะเลี้ยวซ้ายแต่ไม่นำรถเข้าชิดขอบทางเดินรถด้านซ้ายกลับเลี้ยวรถตัดหน้ารถที่โจทก์ร่วมขับใน ระยะกระชั้นชิดในลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร และเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน ทำให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสและรถที่โจทก์ร่วมขับได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดในครั้งคราวเดียวที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน อันเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๘, ๔๓, ๔๔, ๕๑, ๑๔๘, ๑๕๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ลงโทษจำคุก ๑ ปี ผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๕๑, ๑๔๘, ๑๕๘ ลงโทษปรับกระทงละ ๕๐๐ บาทรวมปรับ ๑,๐๐๐ บาท รวมจำคุก ๑ ปี และปรับ ๑,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
โจทก์ร่วมทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคแรก ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยขับรถไม่ชิดขอบทางเดินรถด้านซ้ายแล้วเลี้ยวซ้ายตัดหน้ารถที่โจทก์ร่วมที่ ๑ ขับในระยะกระชั้นชิด โดยลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร และเป็นการกระทำโดยประมาทจนเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามได้รับอันตรายสาหัสและรถที่โจทก์ร่วมที่ ๑ ขับได้รับความเสียหาย เห็นว่า การที่จำเลยขับรถจะเลี้ยวซ้ายแต่ไม่นำรถเข้าชิดขอบทางเดินรถด้านซ้ายกลับเลี้ยวรถโดยตัดหน้ารถโจทก์ร่วมที่ ๑ ในระยะกระชั้นชิดจนเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกันเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำในครั้งคราวเดียวที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันอันเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว หาใช่เป็นการกระทำผิดสำเร็จแต่ละตอนแยกจากกันเป็นความผิดต่างกรรมกันไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมาทุกกรรมนั้นเป็นการไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๕๑,๑๔๘, ๑๕๗ เป็นกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยมีกำหนด ๑ ปี.