คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คพิพาทที่จำเลยออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมมีมูลหนี้ที่มีอยู่จริงเพียง 200,000 บาท ส่วนอีก 100,000 บาท เป็นหนี้ที่โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อเดือน อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย ทั้งคำฟ้องโจทก์ก็มิได้บรรยายว่าจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเท่าใด จำนวนเงินกู้ดังกล่าวจึงไม่อาจแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากกันได้ เมื่อจำนวนดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะฟ้องบังคับมิได้ ดังนั้น การที่จำเลยออกเช็คพิพาทระบุจำนวนเงิน 300,000 บาท เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่เพียง 200,000 บาท จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนมนตรี – ภูเก็ต ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2538 จำนวนเงิน 300,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดใช้เงินโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น โดยให้เหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ทั้งนี้จำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2) จำคุก 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์มีอาชีพออกเงินให้กู้ จำเลยกู้เงินโจทก์โดยทำสัญญากู้ลงวันที่ 2 กันยายน 2538 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุจำนวนเงินที่กู้ 300,000 บาท ทั้งมีการระบุในสัญญากู้อีกว่า จำเลยรับเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้วในวันที่ลงในสัญญากู้และจำเลยจะชำระเงินที่กู้คืนให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 2 ตุลาคม 2538 กับจำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว สืบเนื่องจากการกู้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2538 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000บาท ให้แก่โจทก์ เช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากบัญชีปิดแล้ว โจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง โดยคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ออกเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีอยู่จริงแต่เพียงบางส่วน คือจำนวนที่ 200,000 บาท ส่วนจำนวนอีก 100,000 บาท เป็นหนี้ที่เกิดจากการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่จำเลยของโจทก์ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงวินิจฉัยว่า การออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยจึงเป็นการออกเพื่อชำระหนี้ ทั้งที่มีอยู่และไม่มีอยู่จริงที่ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดโจทก์ฎีกาโต้แย้งว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 มีอยู่จริงและบังคับได้เต็มจำนวนในปัญหาว่าหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ที่จำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ชำระ เป็นหนี้ที่สมบูรณ์เต็มจำนวนหรือไม่นี้ ฝ่ายโจทก์มีพยานมาเบิกความ 2 ปาก คือตัวโจทก์และนายสิทธิโชติ ลิ่มพาณิชย์ โดยโจทก์เบิกความยืนยันข้อความตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 พร้อมทั้งกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวว่าก่อนครบกำหนดตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้ติดต่อให้โจทก์ไปรับเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 แต่เมื่อถึงกำหนดใช้เงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 จำเลยกลับโทรศัพท์ขอเลื่อนการนำเช็คไปขึ้นเงินในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 และ นายสิทธิโชติเบิกความว่า นายสิทธิโชติเป็นพี่เขยโจทก์และเป็นผู้พิมพ์ รวมทั้งลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 การกู้ยืมเงินของจำเลย จำเลยกู้ยืมจำนวน 300,000 บาท และจำเลยรับเงินสดจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้ว และโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยมาเบิกความว่า การกู้เงินตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ความจริงจำเลยกู้เพียง 200,000 บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน ในการรับเงินที่กู้จำเลยรับเพียง 180,000 บาท เนื่องจากโจทก์หักเป็นดอกเบี้ยล่วงหน้าไว้20,000 บาท การทำสัญญากู้จำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้และนางสาวปาริตา วิจิตรสภาพ ลงชื่อเป็นพยานโดยข้อความอื่นมิได้กรอก ในวันทำสัญญาจำเลยจ่ายเช็คเอกสารหมาย ล.1 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ไว้ เมื่อเช็คเอกสารหมาย ล.1 ถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยชำระแต่ดอกเบี้ย ส่วนต้นเงินกู้จำเลยไม่มีชำระโจทก์จึงขอให้จำเลยเปลี่ยนเช็คให้ใหม่ จำเลยออกเช็คตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.4 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดใช้เงินคือวันที่ 2 กันยายน 2538 จำเลยก็ยังไม่มีเงินชำระให้แก่โจทก์อีก จำเลยจึงชำระแต่ดอกเบี้ยและออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ให้แก่โจทก์ แม้เมื่อธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 แล้ว โจทก์ก็ได้ขอให้จำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์อีกตามต้นขั้วเช็คพิพาทเอกสารหมาย ล.5 ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของโจทก์และนายสิทธิโชติมีข้อที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่หลายประการ เช่น ในข้อที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์และนายสิทธิโชติยืนยันว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันตามสัญญากู้คืออัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เมื่อคำนึงว่าโจทก์จำเลยไม่รู้จักกันมาก่อน การมาขอกู้เงินโจทก์ของจำเลยมีนายหน้าของจำเลยมาหาโจทก์ อีกทั้งเป็นการกู้ที่ไร้หลักทรัพย์เป็นประกัน ซึ่งมีอัตราเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระหนี้คืนสูงไม่น่าเป็นไปได้ที่โจทก์จะยอมให้จำเลยกู้โดยคิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ประกอบกับคำเบิกความของโจทก์มีข้อพิรุธเกี่ยวกับเช็คเอกสารหมาย ล.1ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นเช็คฉบับแรกที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ โดยจำเลยออกให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เมื่อเช็คฉบับนี้ถึงกำหนดใช้เงินจำเลยไม่มีเงินจ่ายจึงออกเช็คตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.4 ส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 เป็นเช็คฉบับที่ 3ซึ่งจำเลยออกให้เพื่อเปลี่ยนเช็คตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.4 ในการเบิกความซักถามทนายโจทก์ โจทก์เบิกความยืนยันสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 และเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 โดยไม่กล่าวถึงเช็คเอกสารหมาย ล.1 และเช็คตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.4เท่ากับโจทก์ยืนยันว่า การกู้เงินตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ไม่มีการออกเช็คชำระหนี้ให้ล่วงหน้า ครั้นเมื่อเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านโจทก์ก็ตอบว่า เช็คเอกสารหมาย ล.1 ที่ทนายจำเลยให้ดู จะเป็นเช็คที่โจทก์ได้รับมาก่อนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2หรือไม่ โจทก์จำไม่ได้ แต่ก็ยอมรับว่าลายมือชื่อหลังเช็คดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของโจทก์เท่ากับยอมรับว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ไม่ใช้เช็คฉบับแรกที่โจทก์รับจากจำเลย ซึ่งไม่ลงรอยกับคำเบิกความตอนแรกของโจทก์เอง คำเบิกความของพยานโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 เป็นเช็คฉบับที่ 3 ที่จำเลยออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญายืมเอกสารหมาย จ.1 และหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 มีมูลหนี้ที่มีอยู่จริงเพียง 200,000 บาท ส่วนจำนวนอีก 100,000 บาท เป็นหนี้ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน ซึ่งเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วยโดยตามคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้แยกบรรยายว่าจำนวนเงินต้นเท่าใด และส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเท่าใด จำนวนเงินกู้ดังกล่าวจึงไม่อาจแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากกันได้ เมื่อปรากฏว่าจำนวนดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะฟ้องบังคับมิได้ การที่จำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งระบุจำนวนเงินถึง 300,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งมีอยู่เพียง 200,000 บาทดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share