แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีที่ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ที่แก้ใหม่ ในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 การที่ ช. ขายฝากที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่โจทก์เป็นการจำหน่ายตัวทรัพย์สินนั้น โดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยเจ้าของรวมสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่ ช. ทำกับโจทก์จึงผูกพันที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ช. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361วรรคแรกและวรรคสอง การที่ ช. ขายฝากที่ดินพิพาทในส่วนของตนให้แก่โจทก์โจทก์กับจำเลยจึงมีสิทธิร่วมกันในที่ดินพิพาททุกส่วน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยมิให้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้มาโดยรับซื้อฝากจากนายชิด วัดเทพ สามีจำเลยหลังจากทำสัญญากันแล้วจำเลยได้ขอปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ 1 งาน เมื่อพ้นกำหนดการขายฝากแล้วโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม2531 จำเลยได้ถอนไม้ไผ่ตงที่โจทก์ปลูกไว้ และปลูกมันสำปะหลังในที่ดินด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกรวมเป็นเนื้อที่ประมาณ10 ไร่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทร่วมกับนายชิด วัดเทพ สามีของจำเลยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2531 โจทก์บุกรุกเข้าไปปลูกไม้ไผ่ตงในที่ดินของจำเลยขอให้ยกฟ้อง เพิกถอนสัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับนายชิต และพิพากษาให้ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งหมด ขับไล่โจทก์และบริวารไม่ให้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยรู้เห็นเป็นใจในการที่นายชิตนำที่ดินพิพาทไปขายฝากให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าโจทก์และจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทคนละครึ่ง ที่ขอให้ขับไล่จำเลยและให้รื้อถอนบ้านออกไป กับคำขออื่นตามฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่แก้ไขใหม่ โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่า สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับนายชิต วัดเทพ มีผลผูกพันที่ดินพิพาทเพียงใด และปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยกับนายชิตได้ถากถางและยึดถือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนร่วมกันมา จำเลยและนายชิตจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทร่วมกัน ต่อมาเมื่อปี 2526 นายชิตได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทและใส่ชื่อนายชิตในหนังสือรับรองการทำประโยชน์แต่เพียงผู้เดียวตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.1 ในปีเดียวกันนายชิตได้นำที่ดินพิพาทไปทำสัญญาขายฝากให้แก่โจทก์ โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมการที่นายชิตขายฝากที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่โจทก์เป็นการจำหน่ายตัวทรัพย์สินนั้นโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยเจ้าของรวมสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่นายชิตทำกับโจทก์จึงผูกพันที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนายชิต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361วรรคหนึ่งและวรรคสอง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่และห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทนั้น เมื่อฟังว่า จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทร่วมกันกับนายชิตและมิได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทออกเป็นส่วนสัด จำเลยกับนายชิตจึงเป็นเจ้าของรวมกันในที่ดินพิพาททุกส่วน การที่นายชิตขายฝากที่ดินพิพาทในส่วนของตนให้แก่โจทก์โจทก์กับจำเลยจึงมีสิทธิร่วมกันในที่ดินพิพาททุกส่วน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยมิให้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน