คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1534/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่จำเลยขอเลื่อนการสืบพยาน อ้างว่า จำเลยป่วยไม่สามารถมาศาลได้ ศาลมีอำนาจตั้งเจ้าพนักงานศาลไปตรวจดูว่าจำเลยป่วยจริงหรือไม่เพียงใด โดยไม่ต้องมีแพทย์ไปตรวจด้วย แม้เจ้าพนักงานศาลจะมิใช่แพทย์ แต่เมื่อเจ้าพนักงานศาลได้รายงานผลการตรวจดูอาการจำเลยต่อศาลโดยสาบานตัวแล้ว ศาลย่อมรับฟังและเชื่อได้ว่าอาการป่วยของจำเลยไม่ร้ายแรงถึงกับจะมาศาลไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขายฝากที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จำเลยมีกำหนด1 ปี เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท จดทะเบียนขายฝากเสร็จจำเลยพาโจทก์ไปที่บ้านและหลอกลวงให้โจทก์ทำหนังสือสัญญากู้เงิน 30,000 บาทเพื่อเป็นหลักประกันการขายฝากโดยโจทก์มิได้รับเงินตามหนังสือสัญญากู้ แล้วจำเลยมอบเงินค่าขายฝากให้โจทก์ 38,000 บาท อ้างว่าส่วนที่เหลือหักเป็นค่าดอกเบี้ยและค่าภาษีอากร ต่อมาโจทก์นำเงิน52,000 บาท ไปมอบให้แก่จำเลยเป็นค่าไถ่ถอนการขายฝากที่ดินและบ้านจำเลยรับเงินแล้วนัดจะไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินและบ้านคืนโจทก์ มิฉะนั้นให้จำเลยคืนเงิน 52,000 บาท ที่รับไว้กับเงิน 12,000 บาท ที่จำเลยยังชำระตามสัญญาขายฝากไม่ครบ รวมเป็นเงิน 64,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อฝากที่ดินกับบ้านตามฟ้องและชำระเงินให้โจทก์ 50,000 บาท มิได้หักค่าดอกเบี้ยและภาษีอากร 12,000 บาทหลังจากทำสัญญาขายฝาก โจทก์ขอกู้เงินเพิ่มอีก 30,000 บาท แต่โจทก์ชำระเงินคืนแล้วโจทก์มิได้ไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายในกำหนด1 ปี นับแต่วันทำสัญญาจึงหมดสิทธิไถ่ถอน โจทก์ชำระเงิน 52,000 บาทเพื่อผ่อนหนี้เงินยืมตามหนังสือสัญญากู้เงิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 10495ตำบลอ่างทอง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ให้แก่โจทก์มิฉะนั้นให้จำเลยคืนเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยว่า จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาสืบพยานจำเลยวันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 (ที่ถูกวันที่ 31 ตุลาคม 2529) ออกไปเนื่องจากตัวจำเลยป่วย ที่ศาลชั้นต้นมอบหมายให้เจ้าพนักงานศาลไปดูอาการป่วยของจำเลยแล้วฟังว่าจำเลยไม่ป่วยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาเพราะเจ้าพนักงานศาลมิใช่แพทย์นั้น พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 41 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้ามีการขอเลื่อนการนั่งพิจารณาโดยอ้างว่าตัวความ ผู้แทนทนายความพยานหรือบุคคลอื่นที่ถูกเรียกให้มาศาลไม่สามารถมาศาลได้เพราะป่วยเจ็บเมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว ศาลจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจก็ได้ และถ้าสามารถหาแพทย์ได้ก็ให้ตั้งแพทย์ไปตรวจด้วยถ้าผู้ที่ศาลตั้งให้ไปตรวจได้รายงานโดยสาบานตนหรือกล่าวคำปฏิญาณแล้วและศาลเชื่อว่าอาการของผู้ที่อ้างว่าป่วยนั้นไม่ร้ายแรงถึงกับจะมาศาลไม่ได้ ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการขาดนัดหรือการไม่มาศาลของบุคคลที่อ้างว่าป่วยนั้น แล้วแต่กรณี” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นว่าในกรณีที่จำเลยขอเลื่อนการนั่งพิจารณาสืบพยานจำเลยออกไปโดยอ้างว่าตัวจำเลยป่วยเจ็บหากศาลมีความสงสัยว่าจำเลยจะป่วยเจ็บจริงหรือไม่และอาการที่อ้างว่าป่วยเจ็บนั้นจะร้ายแรงถึงกับจะไม่สามารถมาศาลได้หรือไม่ ศาลมีอำนาจสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลไปทำการตรวจดูว่าจำเลยมีอาการป่วยเจ็บหรือไม่เพียงใด โดยไม่จำต้องตั้งแพทย์ไปตรวจด้วยเว้นแต่สามารถหาแพทย์ได้ศาลจึงจะตั้งแพทย์ให้ไปตรวจอาการของจำเลยร่วมกับเจ้าพนักงานศาล ดังนั้นเมื่อฝ่ายจำเลยขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยออกไปโดยอ้างว่าตัวจำเลยป่วยเจ็บ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลไปตรวจดูอาการของจำเลยแล้วให้รายงานต่อศาลแม้เจ้าพนักงานศาลมิใช่แพทย์ แต่เจ้าพนักงานศาลผู้ที่ไปตรวจดูอาการของจำเลยได้รายงานต่อศาลโดยสาบานตัวแล้ว และศาลชั้นต้นเชื่อว่าอาการป่วยของจำเลยไม่ร้ายแรงถึงกับจะมาศาลไม่ได้ ทั้งปรากฏว่าจำเลยเคยขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยมา 2 นัดแล้ว เช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยออกไปจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share