คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมมีข้อความแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ ร. จัดการแจ้งความเรื่องเช็คคืน โดยไม่ได้ระบุให้ มีอำนาจ แจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย จึงไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้จำเลยต้องรับโทษทั้งได้ความว่า เหตุที่แจ้งความร้องทุกข์ ก็เพราะไม่ต้องการให้เช็คขาดอายุความ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) เมื่อความผิดต่อ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เป็นคดี ความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่มีคำร้องทุกข์ย่อมห้ามมิให้พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสองการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจต้องถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขายโสธรจำนวน 5 ฉบับ มอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดปิยกรณ์วัสดุก่อสร้าง ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายวัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาผู้เสียหายนำเช็คฉบับที่ 1 และที่ 2 ไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกันนั้น โดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย และผู้เสียหายนำเช็คฉบับที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไปเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2540 ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกันนั้น โดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ทั้งนี้จำเลยได้ออกเช็คทั้ง 5 ฉบับ โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินและออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 263/2540 หมายเลขดำที่ 1395/2540 และหมายเลขดำที่ 1396/2540 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัดปิยกรณ์วัสดุก่อสร้าง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 รวม 5 กระทงความผิดตามลำดับข้อหาในคำฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงที่ 1 ที่ 3 ที่ 4และที่ 5 กระทงละ 6 เดือน กระทงที่ 2 จำคุก 2 เดือน รวมโทษจำคุกทุกกระทงความผิดเป็น 2 ปี 2 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 263/2540 หมายเลขดำที่1395/2540 และคดีหมายเลขดำที่ 1396/2540 นั้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าว คดีแรกศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษารอการลงโทษจำคุกจำเลยส่วน 2 คดีหลังศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อตามขอได้คำขอส่วนนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงที่ 1 ที่ 2 กระทงละ 1 เดือน กระทงที่ 3 จำคุก 3 เดือน และกระทงที่ 4 ที่ 5 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุกจำเลย 9 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่ามีการร้องทุกข์โดยชอบและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างไปจากโจทก์ร่วมหลายรายการแล้วจำเลยได้ออกเช็คพิพาทหมาย จ.2 ถึง จ.6ให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อเป็นการชำระราคา เมื่อโจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบคืนเช็คเอกสารหมายจ.7 ถึง จ.11 โจทก์ร่วมจึงมอบอำนาจให้นางสาวรุ่งนภา ภู่ระหงษ์ ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.12แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังว่า การที่นางสาวรุ่งนภาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.12 แล้วพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบแล้วนั้น เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.12 ปรากฏข้อความแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมโดยนางสุริยา พันธ์สายเชื้อ มอบอำนาจให้นางสาวรุ่งนภา ภู่ระหงษ์เป็นผู้มีอำนาจจัดการแจ้งความเรื่องเช็คคืน ซึ่งไม่ชัดแจ้งว่านางสุริยาซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้จำเลยต้องรับโทษอันจะเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) หรือไม่จึงยังไม่พอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นการร้องทุกข์ที่ชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกข้อเท็จจริงอย่างอื่นขึ้นพิจารณาประกอบด้วย คดีนี้ได้ความจากพยานโจทก์คือ นางสุริยาเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เหตุที่พยานแจ้งความร้องทุกข์เพราะไม่ต้องการให้เช็คขาดอายุความ และนางสาวรุ่งนภาก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ที่ผู้เสียหายมอบอำนาจให้พยานไปแจ้งความร้องทุกข์เพราะป้องกันคดีขาดอายุความคำของพยานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้น การที่หนังสือมอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแจ้งความเรื่องเช็คคืน โดยไม่ได้ระบุให้มีอำนาจแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย และที่ผู้มอบอำนาจกับผู้รับมอบอำนาจเบิกความว่า แจ้งความเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความไม่ได้กล่าวถึงว่าแจ้งความโดยมีเจตนาที่จะให้ผู้กระทำผิดคือจำเลยได้รับโทษ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)เมื่อการแจ้งความของนางสาวรุ่งนภาไม่ใช่คำร้องทุกข์ และคดีนี้เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ เมื่อไม่มีคำร้องทุกข์ย่อมห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 วรรคสอง การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในคดีนี้เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ต้องถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share