คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3653/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์โอนกิจการคือสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่ธนาคาร ก. ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการโอนกิจการของธนาคารฯ และโจทก์กับธนาคาร ก. ได้ลงนามในหนังสือสัญญาการโอนสินทรัพย์และหนี้สินแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลย โดยขณะฟ้องโจทก์ยังไม่ได้โอนกิจการคือ สินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่ธนาคาร ก. โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
หลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้วและขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้โอนกิจการคือสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่ธนาคาร ก. ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการโอนกิจการของธนาคารฯทั้งโจทก์กับธนาคาร ก. ได้ลงนามในหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2541 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ธนาคาร ก. ซึ่งเป็นผู้รับโอนกิจการของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีและศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตแล้วตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 38 สัตตเช่นนี้ ธนาคาร ก. ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยได้ต่อไปตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน1,290,734.40 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 25 ต่อปี ของเงินต้น 923,606.59บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2542ว่าโจทก์สิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์จึงยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 8 เมษายน2542 และแนบสำเนาประกาศกระทรวงการคลัง พร้อมแถลงต่อศาลในรายงานกระบวนพิจารณาในวันเดียวกันว่า โจทก์ยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล เพียงแต่โอนกิจการคือสินทรัพย์และหนี้สินให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เท่านั้น และรับจะดำเนินการให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทน ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นหนังสือรับรองของนายทะเบียนยืนยันสภาพนิติบุคคลของโจทก์ เพื่อยืนยันอำนาจฟ้อง ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 22 เมษายน 2542

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกาอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้โอนกิจการคือสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการโอนกิจการของธนาคารมหานครจำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 14 กันยายน 2541และโจทก์กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในหนังสือสัญญาการโอนสินทรัพย์และหนี้สินแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2541 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2541 ซึ่งขณะฟ้องโจทก์ยังไม่ได้โอนกิจการคือสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ถูกจำเลยทั้งสามโต้แย้งสิทธิ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 อย่างไรก็ตามต่อมาหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้แล้วและขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้โอนกิจการคือสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่ธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวข้างต้น ทั้งโจทก์กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในหนังสือสัญญาการโอนสินทรัพย์และหนี้สินแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2541 ดังกล่าวแล้ว ซึ่งตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 มาตรา 38 สัตตบัญญัติไว้ว่า ในการ… โอนกิจการธนาคารพาณิชย์ให้แก่ธนาคารพาณิชย์อื่น… ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้ธนาคารพาณิชย์… ที่รับโอนกิจการแล้วแต่กรณีเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว… ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับโอนกิจการของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดี และศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตแล้วตามมาตรา 38 สัตต ดังกล่าวเช่นนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามได้ต่อไปตามกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใดนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัย ต้องห้ามอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาลให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในปัญหาดังกล่าว”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share