คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์ว่าจะต้องขายให้ได้ราคาสูงสุดเท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ เพราะหากเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดหรือศาลเห็นว่าราคาของผู้ประมูลในครั้งนั้นต่ำไปเป็นราคาที่ไม่สมควรหรือควรได้ราคาสูงกว่านั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลอาจไม่อนุญาตให้ขายแล้วเลื่อนไปประกาศขายใหม่ คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขายที่ดินพิพาทสองแปลงแก่ผู้ร้องที่ให้ราคาสูงสุดจำนวนเงิน 650,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าวงเงินที่ผู้ร้องเคยรับจำนองและรับผลประโยชน์จากการประกันภัยในวงเงินรวมกัน 1,000,000 บาท แม้ราคาประมูลสูงสุดนั้นจะสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งนอกจากเป็นการประเมินเพื่อประโยชน์ของโจทก์และทำให้ผู้คัดค้านเสียหายแล้ว การประเมินดังกล่าวเป็นเพียงการประเมินราคาเพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมในกรณียึดแล้วไม่มีการขายและเพื่อดูว่าทรัพย์สินที่ยึดเพียงพอที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นการประมาณราคาแบบคราว ๆ มิใช่ประเมินตามราคาท้องตลาดที่แท้จริง และการขายทอดตลาดนั้นผู้ทอดตลาดอาจคำนวณราคาท้องตลาดโดยอาศัยวงเงินที่ผู้ร้องรับจำนองประกอบกับประเพณีของธนาคารที่จะรับจำนองในวงเงินต่ำกว่าราคาทรัพย์ที่แท้จริง อีกทั้งการขายทอดตลาดคดีนี้ก็กระทำภายหลังการจำนองถึง 5 ปี ราคาน่าจะสูงขึ้นไปอีกมาก และแม้จะมีการอนุญาตให้ขายทอดตลาดมาหลายครั้งแต่การขายทอดตลาดคดีนี้เป็นการขายทอดตลาดอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก ผู้ทอดตลาดพอจะเห็นได้ว่าราคาซึ่งผู้สู้ราคาสูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอหากมีการขายใหม่จะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้ ดังนั้น การอนุญาตให้ขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาด เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเอาเงินตามสัญญากู้ยืม ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยินยอมชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 106,000บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 100,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยจะผ่อนชำระแก่โจทก์เป็นงวด งวดละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทในวันที่ 15 ของทุก ๆ เดือน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยผิดนัดโจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 23761 และ 23762ตำบลบ้านหม้อ (บ้านลาด) อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อนางละมัย ครึกครื้น ผู้คัดค้าน ภริยาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และติดจำนองธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง ครั้นวันที่ 14 มิถุนายน 2537 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยวิธีปลดจำนองตามคำสั่งศาลชั้นต้น ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิซื้อทรัพย์ที่ขายทอดตลาดดังกล่าวได้ในราคา 650,000 บาท

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีแต่ผู้ร้องเข้าสู้ราคาเพียงฝ่ายเดียว ทั้งราคาที่ขายก็ต่ำกว่าราคาตามความเป็นจริงมาก ที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมีราคาไม่ต่ำกว่า 1,400,000 บาท การที่ผู้ร้องเสนอราคาเพียง 650,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้รวมทั้งสิ้น 250,000 บาทและได้ขายทอดตลาดไปในราคาที่ผู้ร้องเสนอสูงสุดเป็นเงิน 650,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีขณะทำการยึด เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าได้ราคาสูงจึงเห็นสมควรขาย ทั้งวิธีการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็กระทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้าน

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดดังกล่าวได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง คดีได้ความจากรายงานเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 1 สิงหาคม 2537 ว่าในวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นเงิน 100,000 บาท และในวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นได้ประเมินราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นเงิน150,000 บาท รวมเป็นราคาประเมินของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นเงิน250,000 บาท ซึ่งผู้คัดค้านเบิกความประกอบเอกสารได้ความว่า เมื่อ พ.ศ. 2532ผู้คัดค้านจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่อผู้ร้องเพื่อประกันหนี้ที่ผู้คัดค้านมีต่อผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย ค.5 และ ค.6 และสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ค.1 และ ค.2นายจรรยง ประมงค์ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องเบิกความว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกค้าของผู้ร้องและเป็นหนี้เงินกู้จากผู้ร้องเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยจำนวน 500,000 บาท โดยผู้คัดค้านนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจดทะเบียนจำนองแก่ผู้ร้องในวงเงิน 500,000 บาท กับนายจรรยงเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านว่า ถ้าลูกค้านำหลักทรัพย์มาเป็นประกันเงินกู้ ฝ่ายสินเชื่อของผู้ร้องจะไปตรวจหลักทรัพย์และประเมินราคา ในทางปฏิบัติผู้ร้องจะถือราคาประเมินของเจ้าหน้าที่ของผู้ร้องเป็นหลักและผู้ร้องจะอนุมัติเงินกู้ประมาณร้อยละ 80 ของราคาประเมิน ดังนั้น การที่ผู้ร้องให้ผู้คัดค้านกู้เงินจำนวน500,000 บาท แสดงว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้นั้นมีราคาสูงกว่า 500,000 บาท นอกจากนี้ผู้คัดค้านเบิกความเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างว่า ต่อมา พ.ศ. 2534 ผู้คัดค้านปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามภาพถ่ายหมาย ค.3 และ พ.ศ. 2535 ผู้ร้องให้ผู้คัดค้านประกันภัยสิ่งปลูกสร้างตามเอกสารหมาย ร.17 ซึ่งเมื่อตรวจดูตามเอกสารหมาย ร.17 อันเป็นกรมธรรม์ประกันภัย ปรากฏว่าผู้คัดค้านเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยให้ผู้ร้องเป็นผู้รับประโยชน์จากการเอาประกันภัย แสดงว่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีราคา 500,000 บาท เป็นอย่างน้อย ดังนั้นน่าเชื่อว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวมีมูลค่าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงรวมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวขณะทำการยึดเป็นเงิน 250,000 บาท นั้น นายเทอดทิพย์ ยิ้มละมัย ทนายความของโจทก์ซึ่งเป็นพยานผู้คัดค้านเบิกความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีบอกนายเทอดทิพย์ในวันประเมินราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงว่าเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ควรตีราคาให้ต่ำไว้ก่อนเนื่องจากในภายหน้าคดีอาจตกลงกันได้โดยไม่จำเป็นต้องนำทรัพย์ออกขายทอดตลาด ผลดีที่ตามมาก็คือจะทำให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมกรณีที่มีการยึดแล้วไม่มีการขายน้อยลงตามอัตราส่วน และถ้ามีการขายทอดตลาดราคาที่ขายจะมิได้เป็นไปตามราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่จะขายในราคาท้องตลาดซึ่งมีการซื้อขายกันจริง โดยผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อได้ว่าการประเมินราคาของเจ้าพนักงานบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นการประเมินเพื่อประโยชน์ของโจทก์ผู้นำยึดเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเป็นผลให้ผู้ทอดตลาดมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดตามราคาที่ผู้ร้องเสนอซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาประเมินต่ำกว่าราคาที่ควรขายได้ ทำให้ผู้คัดค้านได้รับความเสียหาย ทั้งการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้คัดค้านตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์ว่าจะต้องขายให้ได้ราคาสูงสุดเท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ เพราะหากเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดหรือศาลเห็นว่าราคาของผู้ประมูลสูงสุดในครั้งนั้นต่ำไปเป็นราคาที่ไม่สมควร หรือควรจะได้ราคาสูงกว่านั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลอาจไม่อนุญาตให้ขายแล้วเลื่อนไปประกาศขายใหม่ คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขายแก่ผู้ร้องที่ให้ราคาสูงสุดจำนวนเงิน 650,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าวงเงินที่ผู้ร้องเคยรับจำนองและรับผลประโยชน์จากการประกันภัยเมื่อ 2 ถึง 5 ปี ก่อนในวงเงินรวมกัน 1,000,000 บาท แม้ราคาประมูลสูงสุดนั้นจะสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งนอกจากเป็นการประเมินเพื่อประโยชน์ของโจทก์และทำให้ผู้คัดค้านเสียหายแล้ว การประเมินดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณราคาเพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมในกรณียึดแล้วไม่มีการขายและเพื่อดูว่าทรัพย์สินที่ยึดเพียงพอที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นการประมาณราคาแบบคร่าว ๆ มิใช่ประเมินตามราคาท้องตลาดที่แท้จริงและการขายทอดตลาดนั้น ผู้ทอดตลาดอาจคำนวณราคาท้องตลาดโดยอาศัยวงเงินที่ผู้ร้องรับจำนองประกอบกับประเพณีของธนาคารที่จะรับจำนองในวงเงินต่ำกว่าราคาทรัพย์ที่แท้จริง อีกทั้งการขายทอดตลาดคดีนี้ก็กระทำภายหลังการจำนองถึง 5 ปี ราคาน่าจะสูงขึ้นไปอีกมาก และแม้จะมีการอนุญาตให้ขายทอดตลาดมาหลายครั้ง แต่การขายทอดตลาดที่เป็นคดีนี้ก็เป็นการขายทอดตลาดอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก ผู้ทอดตลาดพอจะเห็นได้ว่าราคาซึ่งผู้สู้ราคาสูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ หากมีการขายใหม่จะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้ ดังนั้น การอนุญาตให้ขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาด ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นชอบของศาลฎีกา ฎีกาผู้คัดค้านฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งนี้โดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่ต่อไป

Share