แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่2เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกขณะเกิดเหตุบ.ลูกจ้างของจำเลยที่2ขับรถยนต์คันดังกล่าวลากจูงรถพ่วงของจำเลยที่2ในทางการที่จ้างของจำเลยที่2ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ที่1เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่1ได้รับความเสียหายสินค้าของลูกค้าโจทก์ที่2ที่บรรทุกในรถยนต์ของโจทก์ที่1ได้รับความเสียหายดังนั้นบ.ลูกจ้างของจำเลยที่2จึงเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในทางการที่จ้างของจำเลยที่2จำเลยที่2ในฐานะนายจ้างบ.จึงต้องร่วมรับผิดกับบ.ในผลแห่งการกระทำละเมิดนั้นด้วยการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยที่1เป็นบุคคลคนเดียวกับบ.ลูกจ้างของจำเลยที่2แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่1ไม่ใช่บุคคลคนเดียวกันกับบ.ลูกจ้างของจำเลยที่1ก็มีผลเพียงว่าจำเลยที่1ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้นไม่ทำให้จำเลยที่2หลุดพ้นจากความรับผิดร่วมกับบ. จำเลยที่3ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใดย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยทำไว้กับจำเลยที่3เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เอาประกันภัยผิดเงื่อนไขของสัญญาประกันภัยจำเลยที่3ไม่ต้องรับผิด
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมาโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 และจำเลยร่วม ในสำนวนแรกกับจำเลยที่ 3 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อค้นหมายเลขทะเบียน 81-9297นครปฐม และลากจูงรถพ่วงคันหมายเลขทะเบียน 81-9935 นครปฐมของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จากกรุงเทพมหานครไปตามถนนปิ่นเกล้า – นครชัยศรี มุ่งหน้าไปจังหวัดนครปฐมตามหลังรถยนต์บรรทุกหกล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-0314 นครปฐมของโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีนายสุรพล เป็นผู้ขับ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อใช้ความเร็วสูงชนท้ายรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 1 ซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ตกลงไปข้างทาง ทำให้กระบะ ตัวถังคัสซีและอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย สินค้าที่บรรทุกมาในรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 2 ต้องรับผิดชอบได้รับความเสียหายด้วยรวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 จำนวน 567,872 บาท สินค้าที่บรรทุกมาในรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เป็นของลูกค้าของโจทก์ที่ 2ซึ่งโจทก์ที่ 2 ต้องรับผิดชอบได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน301,259 บาท จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 คันเกิดเหตุ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความเสียหายดังกล่าวด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 567,872 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 301,259 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1ในสำนวนหลังให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นายบัว ระยาย้อยผู้ขับรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ใช่นายบัวลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกขอให้เรียกจำเลยที่ 3 ในสำนวนหลังเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในสำนวนแรก ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เคลือบคลุมโจทก์ที่ 2 ได้มอบอำนาจให้นายณัฐ รอดภัยปวง ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง นายบัว ระยาย้อย คนขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาท แต่นายบัว ระยาย้อยไม่ใช่บุคคลคนเดียวกันกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และฟังว่านายบัว ระยาย้อย เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2และขับรถยนต์ค้นเกิดเหตุในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับนายบัว ระยาย้อย ด้วย สำหรับจำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2ต่างได้รับความเสียหายจากเหตุละเมิดครั้งนี้และกำหนดให้โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถ 100,000 บาท ค่าผ้าใบคลุมสินค้า 5,800 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 90,000 บาทให้โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าสินค้าที่เสียหาย 78,321.78 บาท และคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 195,800 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 78,321.78บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกิน 250,000บาท สำหรับจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้ยกฟ้อง
จำเลย ที่ 2 และ ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 183,700 บาท สำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-0314 นครปฐม มีนายสุรพล เหล่าเอี่ยม เป็นผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับขนส่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 81-9297 นครปฐมและรถพ่วงคันหมายเลขทะเบียน 81-9935 นครปฐม มีนายบัว ระยาย้อยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นเป็นผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 81-9297 นครปฐม ลากจูงรถพ่วงคันหมายเลขทะเบียน 81-9935 นครปฐม ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 81-9297 นครปฐมของจำเลยที่ 2 แต่ไม่ได้รับประกันภัยรถพ่วงคันหมายเลขทะเบียน81-9935 นครปฐม ด้วย วันเกิดเหตุนายสุรพลขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 บรรทุกสินค้าของลูกค้าโจทก์ที่ 2 เพื่อไปส่งที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดกาญจนบุรีไปตามถนนปิ่นเกล้า – นครชัยศรี มุ่งหน้าไปจังหวัดนครปฐม เมื่อถึงที่เกิดเหตุนายบัว ระยาย้อย ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 81-9297 นครปฐมลากจูงรถพ่วงคันหมายเลขทะเบียน 81-9935 นครปฐม ของจำเลยที่ 2ในทางการทีจ้างของจำเลยที่ 2 ตามหลังรถยนต์ของโจทก์ที่ 1แล้วรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ได้ชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าตกลงไปข้างทาง เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย สินค้าของลูกค้าจำเลยที่ 2 ที่บรรทุกในรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายด้วย
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายบัวระยาย้อย ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 81-9297 นครปฐม ขณะเกิดเหตุนายบัว ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวลากจูงรถพ่วงคันหมายเลขทะเบียน 81-9935 นครปฐม ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย สินค้าของลูกค้าโจทก์ที่ 2 ที่บรรทุกในรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย ดังนั้นนายบัวลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของนายบัวจึงต้องร่วมรับผิดกับนายบัวในผลแห่งการละเมิดนั้นด้วยการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับนายบัวลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1ไม่ใช่บุคคลคนเดียวกันกับนายบัวลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็มีผลเพียงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดร่วมกับนายบัวดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในประการสุดท้ายว่า เหตุละเมิดเกิดจากรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 81-9297 นครปฐม ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 โดยตรง ไม่ได้เกิดจากรถพ่วงคันหมายเลขทะเบียน81-9935 นครปฐม จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามสัญญาประกันภัยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใด ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย ที่จำเลยที่ 2ทำไว้กับจำเลยที่ 3 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2ผิดเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย โดยนำรถยนต์ที่ประกันภัยไปลากจูงรถพ่วงจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน