คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและประกาศข้อปฏิบัติของคนงานของบริษัทส.ซึ่งผู้ร้องรับโอนกิจการมานั้นกำหนดห้ามลูกจ้างทะเลาะวิวาทกันในบริเวณโรงงานหรือบริเวณที่ทำงานนายจ้างก็เลิกจ้างได้แล้วแต่ตามประกาศใหม่ของผู้ร้องกำหนดห้ามลูกจ้างทะเลาะวิวาทกันถึงขั้นชกต่อยตบตีทำร้ายร่างกายกันนายจ้างจึงจะเลิกจ้างได้ประกาศใหม่ของผู้ร้องจึงหาได้เป็นโทษต่อลูกจ้างไม่ดังนั้นประกาศใหม่ของผู้ร้องฉบับดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้แม้จะไม่ได้ปรึกษาหารือกับตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก็ตามเพราะตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้กำหนดถึงข้อบังคับดังกล่าวว่าอาจมีการแก้ไขเพื่อความเหมาะสมกับเหตุการณ์และการทำงานของบริษัทซึ่งบริษัทจะเจรจาและปรึกษาหารือกับตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก่อนเสมอนั้นหมายถึงกรณีที่จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปในทางเป็นโทษแก่ลูกจ้างเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านได้ใช้ไม้กวาดตีทำร้ายร. ซึ่งเป็นหัวหน้างานเพราะไม่พอใจการสั่งงานศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา56วรรคสองการกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศของผู้ร้องกรณีจึงมีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายผดุง บำรุงนา ผู้คัดค้าน เป็นลูกจ้างของผู้ร้อง และเป็นกรรมการลูกจ้างในสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยางแห่งภาคใต้ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2538 ระหว่างปฏิบัติงานผู้คัดค้านได้ใช้ไม้กวาดตีทำร้ายนายราวี หนูชู ซึ่งเป็นหัวหน้างานในโรงงานของผู้ร้อง เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องอย่างร้ายแรงซึ่งห้ามมิให้คนงานก่อการทะเลาะวิวาทในบริเวณโรงงานขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่มีเจตนาทำร้ายร่างกายนายราวี หนูชูแต่เมื่อผู้ร้องต้องการเลิกจ้างผู้คัดค้านผู้คัดค้านก็ไม่ประสงค์จะเป็นลูกจ้างของผู้ร้องต่อไปแต่ก็ขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายในการเลิกจ้างรวมเป็นเงิน 29,190 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำคัดค้านนี้จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้คำขออื่นให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อ 2.2 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รับไว้ซึ่งผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านกระทำความผิดร้ายแรงตามประกาศฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538นั้น นายสมชายผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องเบิกความว่า บริษัทผู้ร้องได้ยึดถือระเบียบข้อปฏิบัติในการทำงานตามสัญญาโอนสิทธิการจ้างที่รับโอนมาจากบริษัทสหยางภูเก็ต จำกัด หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเกี่ยวกับระเบียบการทำงาน จะต้องแก้ไขแล้วไม่เป็นโทษต่อลูกจ้างและต้องปรึกษาตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก่อน และเบิกความรับว่าประกาศฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ไม่ได้ปรึกษาหารือกับตัวแทนฝ่ายลูกจ้างประกาศฉบับดังกล่าวจึงเป็นประกาศที่ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิการจ้าง ไม่อาจมีผลใช้บังคับได้ การที่ผู้ร้องนำประกาศฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 มาเป็นเหตุเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้คัดค้าน เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและประกาศข้อปฏิบัติของคนงานของบริษัทสหยางปักษ์ใต้ จำกัด เอกสารหมาย ร.3 ซึ่งผู้ร้องรับโอนกิจการมานั้น กำหนดห้ามลูกจ้างโดยเพียงแต่ลูกจ้างทะเลาะวิวาทกันในบริเวณโรงงานหรือบริเวณที่ทำงาน นายจ้างก็เลิกจ้างได้แล้วแต่ตามประกาศใหม่ของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538เอกสารหมาย ร.4 กำหนดห้ามลูกจ้างโดยการทะเลาะวิวาทกันนั้นต้องถึงขั้นชกต่อย ตบตี ทำร้ายร่างกายกัน นายจ้างจึงจะเลิกจ้างได้ประกาศใหม่ของผู้ร้องจึงหาได้เป็นโทษต่อลูกจ้างตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไม่ เมื่อเป็นดังนี้ ประกาศใหม่ของผู้ร้องฉบับลงวันที่7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 เอกสารหมาย ร.4 ดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้แม้จะไม่ได้ปรึกษาหารือกับตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก็ตาม เพราะตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ร.3 ที่กำหนดว่า “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนี้ อาจมีการแก้ไขเพื่อความเหมาะสมกับเหตุการณ์และการทำงานของบริษัท ซึ่งบริษัทจะเจรจาและปรึกษาหารือกับตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก่อนเสมอ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างบริษัทกับลูกจ้างทุกคน” นั้น หมายถึงกรณีที่จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปในทางเป็นโทษแก่ลูกจ้าง และเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านได้ใช้ไม้กวาดตีทำร้ายนายราวีซึ่งเป็นหัวหน้างานเพราะไม่พอใจการสั่งงาน ซึ่งศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศของผู้ร้องฉบับลงวันที่7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 เอกสารหมาย ร.4 ดังกล่าว กรณีมีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้าน ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share