แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพแหวนและภาพมงกุฎ ส่วนคำขอของจำเลยเป็นภาพแหวนสวมมงกุฎประกอบด้วยอักษรโรมันคำว่า “NEPLUSULTRADARNERSDIMONDDRILLDEYED” และภาพมงกุฎเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์และจำเลยมีลักษณะของแหวนและมงกุฎเป็นชนิดเดียวกัน ตัวแหวน หัวแหวน รูปลักษณะ ของ มงกุฎและลวดลายของมงกุฎเหมือนกัน รูปรอยประดิษฐ์ภาพแหวนสวมมงกุฎสีขาวที่ประกอบขึ้นเป็นเครื่องหมายการค้าทั้งหมดของโจทก์และของจำเลยอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่มีลวดลายโดยรอบคล้ายกันอยู่ในพื้นสีน้ำเงินทึบลวดลายสีขาว ลายเส้นก็คล้ายกัน ตัวอักษรโรมันสีขาวคำว่า “NEPLUSULTRADARNERSDRILLDEYED” ที่ใช้เขียนใต้เครื่องหมายการค้าก็เหมือนกัน แตกต่างกันเพียงว่ามีตัวเลขอารบิค สีขาว “3000” อยู่ระหว่างคำว่า “DIMOND” กับคำว่า “DRILLDEYED” และที่ขอบสี่เหลี่ยมไม่มีลวดลายสีขาวเท่านั้น นอกนั้นเหมือนกันหมด ทั้งปรากฏว่าได้นำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกัน เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เป็นการนำเอาส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้ยื่นคำขอไว้มาใช้ เป็นการมุ่งหมายจะลวงหรือทำให้เกิดสับสนกันได้ว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายเป็นเครื่องหมายการค้าอันเดียวกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน นอกจากคำขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าและมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่จำเลยได้ยื่นไว้แล้วดีกว่าโจทก์ทั้งสอง และห้ามมิให้ขัดขวางการที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยแล้ว คำขออื่นตามฟ้องแย้งของจำเลยล้วนเป็นคำขอเพื่อป้องกันและเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสิ้น ดังนั้นแม้จะปรากฏว่าจำเลยมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยดีกว่าโจทก์ เพราะจำเลยใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาก่อนโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยยังมิได้รับการจดทะเบียนและนับแต่ได้ใช้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาจนถึงวันฟ้องแย้งก็เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว ดังนี้ จำเลยจึงนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคแรก และฟ้องแย้งของจำเลยก็มิได้บรรยายให้ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองเอาสินค้าของโจทก์ทั้งสองไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของจำเลย กรณีจึงไม่มีประเด็นในเรื่องการลวงขายที่จะต้องวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้ศาลบังคับตามคำขออื่นดังกล่าวตามฟ้องแย้งของจำเลยได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า”ตรามงกุฎ” กับ เครื่องหมายการค้า “ตราแหวน” โจทก์ที่ 1 เป็นผู้คิดค้นขึ้นด้วยจินตนาการและใช้เป็นเครื่องหมายการค้าจำพวกเข็มเย็บผ้าด้วยมือ เข็มเย็บผ้าด้วยจักร เข็มเย็บกระสอบ และเข็มเย็บวัสดุอื่น ๆ ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “NEPLUS ULTRA” ประกอบรูปมงกุฎอยู่เหนือแหวนใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกับของโจทก์ที่ 1 เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วโจทก์ที่ 2 ได้โฆษณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชน ต่อมาโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แต่นายทะเบียนไม่อาจจะดำเนินการจดทะเบียนให้ได้เนื่องจากมีรูปรอยเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้ายกับที่จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ ซึ่งรูปรอยเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ที่ 1 ในส่วนสำคัญและลักษณะบ่งเฉพาะแตกต่างไม่เหมือนคล้ายกับรูปรอบของเครื่องหมายการค้าของจำเลย ไม่ก่อให้เกิดความหลงผิดในหมู่ผู้ซื้อหา โจทก์ที่ 1 ได้ขอทำความตกลงกับจำเลยเพื่อมิให้คัดค้านหรือขัดขวางการจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยไม่ยินยอมนอกจากนี้จำเลยยังใช้รูปรอยเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 กับสินค้าเข็มเย็บผ้าของจำเลยออกจำหน่ายก่อให้เกิดความหลงผิดในหมู่ผู้ซื้อว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ที่ 2 อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลย ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 60,000 บาทและค่าเสียหายต่อไปเป็นรายเดือนเดือนละ 20,000 บาท จนกว่าจำเลยจะยุติการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ขอให้พิพากษาว่ารูปรอยเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยไม่เหมือนคล้ายกัน โจทก์ที่ 1 มีสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 137873, 137890 และโจทก์ที่ 2 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทและตามคำขอเลขที่ 139322, 139323 ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 117452,1196253, 122211, 133525, 126338 และ 126595 ห้ามมิให้จำเลยขัดขวางการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 60,000 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้ใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 20,000 บาท จนกว่าจำเลยจะยุติการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 มิใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าตรามงกุฏ และรูปแหวน ตามคำขอเลขที่ 137890, 137873โจทก์ที่ 1 มีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้ารูปมงกุฏ ของจำเลยโจทก์ที่ 2 มิใช่เจ้าของหรือผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “NEPLUS ULTRA” ประกอบรูปมงกุฎอยู่เหนือแหวน แต่จำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้กับสินค้าจำพวกเข็มเย็บผ้าเป็นเวลา 18 ปีแล้ว โดยสั่งให้ประเทศญี่ปุ่นผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวประทับอยู่บนกล่องหีบห่อของเข็มเย็บผ้าต่าง ๆ ของจำเลยเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 2 กับพวกร่วมกันเลียนแบบและปลอมเครื่องหมายการค้าของจำเลยความเสียหายของโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน 1,000 บาท หรือเดือนละ 100 บาท ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “CROWNED RING” หรือรูปมงกุฎหรือรูปแหวนสวมมงกุฎรวมทั้งอักษรโรมันคำว่า “NEPLUS ULTRA” โดยใช้มานานประมาณ 18 ปีและยื่นคำขอจดทะเบียนไว้แล้ว แต่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 นำเครื่องหมายการค้าของจำเลยไปใช้กับสินค้าของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าของจำเลยลดลง อันเป็นการละเมิดทำให้จำเลยได้รับความเสียหายโจทก์ที่ 1 ละเมิดตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2527 เป็นต้นไป โจทก์ที่ 2ละเมิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2527 เป็นต้นไป ขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยดีกว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2และมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 117452,119673, 122211, 126595, 133252, 133253 ดีกว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 137873,137890 ของโจทก์ที่ 1 ตามคำขอเลขที่ 139322, 139323 ของโจทก์ที่ 2 และห้ามมิให้ขัดขวางการที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ห้ามโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยตลอดไป ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยรายละ60,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ20,000 บาท จนกว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จะยุติการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาท เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ที่ 1 ไม่มีส่วนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ไปขอจดทะเบียน โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริต ไม่เคยลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ไม่เคยจำหน่ายสินค้าให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าของจำเลย จึงไม่เป็นละเมิดต่อจำเลย ยอดขายของจำเลยต่ำลงเป็นเพราะจำเลยไม่สันทัดในการค้า หากจำเลยเสียหายก็ไม่เกินจำนวน 1,000 บาท และฟ้องแย้งในส่วนละเมิดจำเลยก็ไม่อาจเรียกค่าเสียหายได้ เพราะยังมิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตราแหวนมงกุฎ และที่เขียนคำอ่านเป็นภาษาไทยว่า “นีพลัส อัลตราดานเนอส ไดอามอนด์ ดริลด์อายด์” ดีกว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ให้โจทก์ที่ 1 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 13783, 137890และโจทก์ที่ 2 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 139322,139323 ห้ามมิให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ใช้ยื่นคำขอจดทะเบียน หรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ให้โจทก์ที่ 1ที่ 2 ชำระเงินคนละ 60,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จะยุติการใช้เครื่องหมายการค้านั้น ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสองหรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน เห็นว่า คำขอของโจทก์ที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นภาพแหวนตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นภาพมงกุฎ ส่วนคำขอของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นภาพแหวนสวมมงกุฎ ตามเอกสารหมาย จ.9 เป็นภาพแหวนสวมมงกุฎสีขาว ประกอบด้วยอักษรโรมันสีขาวคำว่า “neplus ultradarners dimond drilld eyed” อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมมีลวดลายโดยรอบบนพื้นสีน้ำเงินทึบ ตามเอกสาร หมาย จ.13เป็นภาพมงกุฎ ตามเอกสารหมาย จ.14 เป็นภาพมงกุฎ คำของโจทก์ที่ 1 สองคำขอ และคำขอของจำเลยห้าคำขอดังกล่าวมานี้ลักษณะของแหวนและมงกุฎเป็นชนิดเดียวกัน ตัวแหวน หัวแหวน รูปลักษณะ ของ มงกุฎและลวดลายของมงกุฎเหมือนกัน ถ้าพิจารณากล่องบรรจุเข็มเย็บผ้าด้วยมือตามวัตถุพยานหมาย จ.2 จ.3 และ จ.28 จะเห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอไว้ทั้งสองคำขอเป็นการนำเอาส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้ยื่นคำขอไว้มาใช้ และหากพิจารณารูปแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ตามแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเอกสารหมาย จ.9 จะเห็นชัดเจนเช่นกันว่ารูปรอยประดิษฐ์ภาพแหวนสวมมงกุฎสีขาวที่ประกอบขึ้นเป็นเครื่องหมายการค้าทั้งหมดของโจทก์ที่ 2 และของจำเลยอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่มีลวดลายโดยรอบคล้ายกันอยู่ในพื้นสีน้ำเงินทึบ ลวดลายสีขาวลายเส้นก็คล้ายกัน ตัวอักษรโรมันสีขาวคำว่า “NEPLUS ULTRA DARNERSDRILLD EYED” ที่ใช้เขียนใต้เครื่องหมายการค้าก็เหมือนกัน ซึ่งแบบเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.11 แตกต่างไปเพียงว่ามีตัวเลขอารบิคสีขาว “300” อยู่ระหว่างคำว่า “DIMOND” กับคำว่า “DRILLDEYED” และที่ขอบสี่เหลี่ยมไม่มีลวดลายสีขาวเท่ากัน นอกนั้นเหมือนกันหมด ทั้งปรากฏว่าได้นำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันอีกด้วยเป็นการมุ่งหมายจะลวงหรือทำให้เกิดสับสนกันได้ว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายเป็นเครื่องหมายการค้าอันเดียวกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อต่อไปว่า จำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งหรือไม่ เห็นว่า นอกจากคำขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าและมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่จำเลยได้ยื่นไว้แล้วดีกว่าโจทก์ทั้งสอง และห้ามมิให้ขัดขวางการที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยแล้วคำขออื่นตามฟ้องแย้งของจำเลยล้วนเป็นคำขอเพื่อป้องกันและเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสิ้น ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยดีกว่าโจทก์ทั้งสองเพราะจำเลยใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาก่อนโจทก์ทั้งสองดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยยังมิได้จดทะเบียนและนับแต่ได้ใช้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาจนถึงวันฟ้องแย้งก็เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว ดังนี้ จำเลยจึงนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคแรก และฟ้องแย้งของจำเลยก็มิได้บรรยายให้ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองเอาสินค้าของโจทก์ทั้งสองไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของจำเลย กรณีจึงไม่มีประเด็นในเรื่องการลวงขายที่จะต้องวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้ศาลบังคับตามคำขออื่นดังกล่าวตามฟ้องแย้งของจำเลยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าและมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 117452, 119673,122211, 133252 และ 133253 ดีกว่าโจทก์ทั้งสอง และห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองขัดขวางการที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าว คำขออื่นตามฟ้องแย้งให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.