คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3515/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร ตกลงชำระค่าจ้างเป็นงวดรวม 9 งวด การชำระเงินจำเลยจะหักเงินประกันผลงานไว้เป็นจำนวนร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่โจทก์เบิกแต่ละงวดเมื่อโจทก์ก่อสร้างเสร็จและส่งมอบอาคารให้จำเลยแล้ว จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกันผลงานให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลย จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ทำการก่อสร้างอาคารให้เสร็จสมบูรณ์ตามสัญญา และโจทก์ได้ละทิ้งงานทำให้จำเลยเสียหายจึงขอนำค่าเสียหายมาหักกลบลบหนี้กับหนี้เงินประกันผลงานที่โจทก์ฟ้อง โดยจำเลยได้ให้การอีกว่า จำเลยไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามคำให้การของจำเลยเป็นที่เข้าใจว่าจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารจริง ดังนั้นประเด็นที่ว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารหรือไม่ จึงขัดกับคำให้การโดยรวมของจำเลยทั้งหมด คำให้การส่วนนี้จึงไม่ชัดแจ้งถือว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาท ที่ศาลชั้นต้นไม่ตั้งประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องและศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัย 6 ชั้น ตามแบบแปลนที่จำเลยกำหนด ค่าจ้างรวมค่าแรงและวัสดุก่อสร้างเป็นเงิน 11,716,401.56 บาท ตกลงชำระค่าจ้างเป็นงวด รวม 9 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระเป็นเงิน 585,820.07 บาท งวดที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระเป็นเงินงวดละ 1,757,460.23 บาท และงวดที่ 5 ถึงที่ 9 ชำระเป็นเงินงวดละ 1,171,640.16 บาท การชำระเงินจำเลยจะหักเงินประกันผลงานไว้เป็นจำนวนร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่โจทก์เบิกแต่ละงวดจนครบตามสัญญาโดยจำเลยสัญญาว่า เมื่อครบสัญญาเบิกเงินงวดสุดท้ายแล้ว จำเลยจะคืนเงินประกันผลงานที่จำเลยหักไว้ให้โจทก์ โดยกำหนดให้โจทก์นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่มีกำหนดเวลาค้ำประกัน 6 เดือน นับแต่วันที่จำเลยรับมอบงานงวดสุดท้ายมาให้จำเลยในวันที่มารับเงินประกันผลงานคืนโจทก์ได้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ตามสัญญาจำเลยได้รับมอบอาคารและโจทก์ได้รับเงินค่าก่อสร้างงวดสุดท้ายแล้วแต่จำเลยไม่คืนเงินประกันผลงานร้อยละ 5 ของจำนวนที่โจทก์เบิกแต่ละงวด รวม 9 งวด เป็นเงิน 545,473 บาท และโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้จำเลยยึดถือไว้แล้ว โจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนเงินประกันผลงานดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องชำระเงินประกันผลงาน 545,473 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,957 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 553,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน545,473 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัย 6 ชั้น แต่ได้ว่าจ้างบุคคลอื่น โจทก์ไม่ได้ทำการก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัย 6 ชั้น ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญา จำเลยเร่งรัด โจทก์ให้ดำเนินการก่อสร้างและเก็บงานให้เสร็จสมบูรณ์ แต่โจทก์เพิกเฉย ทำให้จำเลยไม่สามารถใช้อาคารได้ตามเวลาที่กำหนด จำเลยไม่ได้รับมอบอาคารจากโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งงาน จำเลยชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ขอร้องและหลอกว่าจะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา หนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นหนังสือที่ออกมาก่อนล่วงหน้าก่อนที่งานจะแล้วเสร็จสมบูรณ์จึงขัดกับข้อสัญญาการที่โจทก์ละทิ้งงานทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยขอคิดค่าปรับวันละ 2,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2539 เป็นเวลา 67 วัน เป็นเงิน 167,500 บาท และจำเลยต้องว่าจ้างบุคคลอื่นซ่อมแซมอาคารส่วนที่ชำรุดบกพร่อง เสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท จำเลยจึงขอหักกลบลบหนี้เงินประกันผลงาน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินประกันผลงานแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 425,473 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัย 6 ชั้น เป็นเงิน 11,716,401.56 บาท ตกลงชำระค่าจ้างเป็นงวดรวม 9 งวด การชำระเงินจำเลยจะหักเงินประกันผลงานไว้เป็นจำนวนร้อยละ 5ของจำนวนเงินที่โจทก์เบิกแต่ละงวด เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารเสร็จและส่งมอบอาคารให้จำเลยแล้ว จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกันผลงานเป็นเงิน 545,473 บาท ให้โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลย จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ได้ทำการก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัย 6 ชั้น ให้เสร็จสมบูรณ์ตามสัญญา ทำให้จำเลยไม่สามารถใช้อาคารดังกล่าวได้ตามเวลาที่กำหนดและโจทก์ได้ละทิ้งงาน จำเลยชำระเงินงวดสุดท้ายให้โจทก์เพราะโจทก์ขอร้องและหลอกลวงว่าจะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา การที่โจทก์ละทิ้งงานทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยขอคิดค่าปรับเป็นเงิน 167,500 บาท และจำเลยต้องเสียค่าซ่อมแซมอาคารอีกไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท จำเลยขอนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้เงินประกันผลงานที่โจทก์ฟ้อง โดยจำเลยได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การอีกประการหนึ่งว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัย 6 ชั้น แต่ได้ว่าจ้างบุคคลอื่นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องไว้ด้วย แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้และไม่ได้มีการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวและศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำให้การของจำเลยส่วนใหญ่ยอมรับว่าได้ว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัย 6 ชั้นจริง ถือว่าจำเลยยอมรับในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องแล้ว จึงไม่มีประเด็นพิพาทในเรื่องดังกล่าวปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าคำให้การดังกล่าวก่อให้เกิดประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องที่ศาลจะต้องยกขึ้นวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า การยื่นคำให้การนั้น จำเลยจะต้องแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ตามคำให้การของจำเลย เมื่ออ่านรวมทั้งหมดแล้วเป็นที่เข้าใจว่าจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัย 6 ชั้นจริง แต่โจทก์ก่อสร้างอาคารดังกล่าวไม่เรียบร้อยและได้ทิ้งงานไปก่อน ดังนั้นประเด็นที่ว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวหรือไม่จึงขัดกับคำให้การโดยรวมของจำเลยทั้งหมด คำให้การส่วนนี้จึงไม่ชัดแจ้งถือว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาท ที่ศาลชั้นต้นไม่ตั้งประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องและศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share