แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรม บุตรทุกคนของเจ้ามรดกได้ตกลงขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมรดกมีหลักฐาน น.ส.3ก. ให้แก่โจทก์โดยให้ ห.บุตรคนหนึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายในฐานะผู้ขาย โจทก์ได้ชำระเงินงวดสุดท้ายในวันทำสัญญาและบุตรของเจ้ามรดกทุกคนได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองตลอดมาดังนี้ถือว่าบุตรของเจ้ามรดกทุกคนได้ขายและสละการครอบครองที่ดิน พิพาทให้แก่โจทก์แล้วแม้ภายหลังจากทำสัญญาฉบับแรกโจทก์และบุตรเจ้ามรดกบางคนจะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันอีกฉบับหนึ่งโดยมีข้อความว่าจะจัดการโอนทะเบียนที่ดินพิพาทให้แก่กันเมื่อทายาทได้รับมรดกที่ดินตามกฎหมายแล้วก็เป็นเรื่องประสงค์ให้มีหลักฐานทางทะเบียนภายหลังที่ได้โอนสิทธิครอบครองกันแล้วเท่านั้น จะถือว่าไม่ได้สละเจตนาครอบครองหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางหนม สีหวงษ์ มารดาจำเลยได้กู้เงินโจทก์ 10,000 บาท ต่อมานางหนมถึงแก่กรรม บุตรของนางหนมรวมทั้งจำเลยได้ตกลงขายที่ดินเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นมรดกของนางหนมให้แก่โจทก์ในราคา 38,500บาท โดยหักหนี้เงินกู้ที่นางหนมกู้จากโจทก์ 10,000 บาท โจทก์ได้ชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่นายหอมสวรรค์ สีหวงษ์ บุตรของนางหนมซึ่งเป็นตัวแทนของทายาทนางหนมรับไปแล้วและนายหอมสวรรค์ได้ทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ แล้วโจทก์เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว ต่อมาจำเลยซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางหนมตามคำสั่งของศาลไม่ยอมโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ถ้าไม่โอนก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยและทายาทอื่นของนางหนมไม่เคยมอบให้นายหอมสวรรค์เป็นตัวแทนขายที่ดินและรับเงินจากโจทก์ โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 โดยเช่าจากนางกองสี สีหวงษ์ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง ต่อมานางกองสีได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ โจทก์ไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาทจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหนมจึงฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์และขับไล่โจทก์กับบริวารออกจากที่ดินพิพาทห้ามมิให้เกี่ยวข้องอีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นางหนมกู้เงินจากโจทก์และมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อนางหนมถึงแก่กรรมแล้วจำเลยและพี่น้องทุกคนได้ตกลงขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยมอบให้นายหอมสวรรค์ทำสัญญาซื้อขาย รับเงินที่เหลือและมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้องโจทก์จึงครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2522 ตลอดมา โจทก์ไม่เคยเช่าที่ดินพิพาทจากนางกองสี ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหนม สีหวงษ์โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทให้ยกฟ้องแย้งจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องต่อไป โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนางหนม สีหวงษ์ นางหนมมีบุตรรวม 6 คนโดยเกิดกับสามีคนแรก 3 คน คือ นางกองสี สีหวงษ์ จำเลย และนางทองพิน สีหวงษ์ และเกิดกับสามีคนหลัง 3 คน คือนายหอมสวรรค์สีหวงษ์ นายหาญ สีหวงษ์ และนางโหรี สีหวงษ์ เมื่อวันที่13 มีนาคม 2521 นางหนมได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 10,000 บาทกำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 15 มีนาคม 2522 ปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 นางหนมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่10 พฤษภาคม 2521 นายหอมสวรรค์ ได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2522 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2616/2526ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2526 นายหอมสวรรค์นายหาญ และนางโหรี ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์อีกปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางหนมตามคำสั่งของศาลในปี พ.ศ. 2526 และได้จัดการโอนใส่ชื่อจำเลยใน น.ส.3ก. ของที่ดินซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหนม ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1โจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาท ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกามีว่าบุตรของนางหนมทุกคนได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยสละสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานและนำนายหอมสวรรค์มาเบิกความประกอบว่าหลังจากนางหนมถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2521 แล้ว บุตรทุกคนของนางหนมได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยให้นายหอมสวรรค์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทในฐานะผู้ขายตามเอกสารหมาย ล.1 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2616/2526ของศาลชั้นต้น โจทก์ได้ชำระเงินงวดสุดท้าย จำนวน 17,500 บาทให้ไปแล้วในวันทำสัญญาและบุตรทุกคนของนางหนมได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เข้าทำประโยชน์อย่างเป็นเจ้าของยิ่งกว่านี้โจทก์ยังนำนายทองอ่อน สีหวงษ์มาเบิกความยืนยันประกอบว่า เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาดังกล่าวและเป็นผู้ไปนำรังวัดที่ดินพิพาทในเดือน 6 พ.ศ. 2521 ซึ่งในขณะนั้นบุตรของนางหนมไปด้วยกันทุกคน โจทก์เข้าทำประโยชน์โดยทำนาในที่ดินพิพาทในปี พ.ศ. 2522 ตลอดมาจนปัจจุบัน ศาลฎีกาเห็นว่านายทองอ่อนเป็นผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดจึงเชื่อว่านายทองอ่อนเบิกความไปตามความจริงโดยมิได้เข้าข้างฝ่ายใด ทั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2526 นายหอมสวรรค์นายหาญ และนางโหรี บุตรของนางหนมยังได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์อีกปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งในสัญญาดังกล่าวมีข้อความว่าได้แสดงเจตนาขาย ทั้งสละสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นการยืนยันเจตนาเดิมที่ได้ทำสัญญาซื้อขายไว้แต่แรกข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บุตรของนางหนมทุกคนได้ขายที่ดินพิพาท และสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วแม้สัญญาซื้อขายเอกสารหมายจ.2 จะมีข้อความต่อไปว่าจะจัดการโอนทางทะเบียนที่ดินพิพาทให้แก่กันเมื่อทายาทได้รับมรดกที่ดินตามกฎหมายแล้ว ก็เป็นเรื่องประสงค์ให้มีการหลักฐานทางทะเบียนภายหลังที่ได้โอนสิทธิครอบครองกันแล้วเท่านั้นจะฟังว่าไม่ได้สละเจตนาครอบครองหาได้ไม่ที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากนางกองสีทำนานั้นเป็นแต่เพียงกล่าวอ้างลอย ๆไม่มีสัญญาเช่ามาแสดง ทั้งยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่าโจทก์เป็นคนมีฐานะดี มีเงินมากและมีนามากจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากนางกองสีทำนาดังที่จำเลยนำสืบ หลังจากนางหนมถึงแก่กรรมแล้ว ไม่มีทายาทคนใดของนางหนมเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ พ.ศ. 2522 โดยเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย จ.3, จ.4 ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว พยานจำเลยที่นำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น