แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งในสัญญาดังกล่าวข้อ 2 ระบุว่า คู่สัญญาได้ตกลงราคาที่จะซื้อขายกันคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,750,000 บาท โดยในวันทำสัญญานี้(วันที่ 9 ธันวาคม 2537) ผู้ซื้อได้วางมัดจำไว้จำนวน250,000 บาท ซึ่งผู้ขายจะได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว และผู้ซื้อตกลงจะชำระเงินอีก800,000 บาท ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2538 และสัญญาข้อ 3ระบุว่า เงินส่วนที่เหลือจำนวน 700,000 บาท คู่สัญญาตกลง จะชำระกันในวันที่ 1 ธันวาคม 2538 และผู้ขายตกลงจะไปทำการ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ซื้อ ในวันเดียวกับที่ผู้ซื้อชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าว ต่อมาปรากฏว่าโจทก์ผิดสัญญาโดยชำระเงินงวดที่ 2 ให้จำเลย เพียง 100,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลย ไปทั้งสิ้น 350,000 บาท นอกจากนี้สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์ กับจำเลยดังกล่าวมีข้อตกลงด้วยว่า หากโจทก์ผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งให้จำเลยริบเงินค่าที่ดินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมดด้วย จึงเห็นได้ว่าตามสัญญาจะซื้อขายข้อ 2 และข้อ 3ดังกล่าว โจทก์กับจำเลยตกลงแบ่งชำระราคาที่ดินเป็น 3 งวดงวดแรกกำหนดชำระในวันทำสัญญาจำนวน 250,000 บาทโดยให้ถือเป็นมัดจำด้วย ส่วนงวดที่ 2 จำนวน 800,000 บาทและงวดที่ 3 จำนวน 700,000 บาท จะชำระในภายหลัง ดังนี้ จึงถือว่ามีการวางเงินมัดจำตามสัญญาดังกล่าวเพียง250,000 บาท เท่านั้น ข้อตกลงในสัญญาจะซื้อขายฉบับพิพาทมีลักษณะเป็นเพียงข้อสัญญากำหนดจำนวนเงินค่าที่ดินที่เหลือที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยเป็นงวด ๆ ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า เท่านั้น ไม่แน่ว่าเมื่อถึงกำหนดเวลาชำระเงินแต่ละงวดโจทก์จะชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนหรือชำระมากน้อยเพียงใดดังนี้แม้จะมีข้อสัญญาว่าหากโจทก์ผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งให้จำเลยริบเงินค่าที่ดินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมดได้แต่ก็หาได้มีลักษณะเป็นการกำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับได้ไม่ ดังนี้เงินตามข้อตกลงในสัญญาจำนวนดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจลดลงได้ หากแต่เป็นเงินค่าที่ดินส่วนหนึ่งที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญา ซึ่งเมื่อข้อสัญญาให้สิทธิจำเลยริบเงินค่าที่ดินที่โจทก์ชำระไว้แล้วได้หากโจทก์ผิดสัญญาและปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยย่อมชอบที่จะริบเงินจำนวน 100,000 บาท ได้ทั้งหมดตามข้อสัญญาที่โจทก์ตกลงกับจำเลยไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2537 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5080 และ 5081 พร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม ราคา 1,750,000 บาท ให้โจทก์ กำหนดชำระค่าที่ดินในวันทำสัญญาจำนวน 250,000 บาท วันที่ 1 มิถุนายน 2538จำนวน 800,000 บาท วันที่ 1 ธันวาคม 2538 จำนวน 700,000 บาทและจำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์โดยปราศจากภาระติดพัน หากโจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้จำเลยริบเงินค่าที่ดินที่ชำระแล้วทั้งหมด แต่หากจำเลยผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดจำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเสียค่าปรับเป็นเงินสามเท่าของราคาที่ดินที่ซื้อขายให้โจทก์ หรือให้โจทก์ฟ้องบังคับให้เป็นไปตามสัญญา และยอมใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับโจทก์ชำระค่าที่ดินให้จำเลย 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 350,000 บาทต่อมาโจทก์ทราบว่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นของมารดาจำเลยส่วนที่ดินนั้นมารดาจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยมิใช่ทรัพย์สินของจำเลยแต่ผู้เดียว ถือว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะปกปิดความจริงอันเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาที่ควรบอกให้โจทก์ทราบ หากโจทก์ทราบก็จะไม่ยอมทำสัญญาด้วย จำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยรับเงินจากโจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,625 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 368,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ผิดสัญญา เพราะโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินที่ตกลงจะซื้อขายจำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมกับมารดาซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ได้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินตามงวดที่กำหนด จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำที่โจทก์ชำระทั้งหมด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินแก่โจทก์ 100,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง และจำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายในการตีความข้อสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้ว่า นอกจากจำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยจำนวน 250,000 บาทในฐานะที่เป็นเงินมัดจำแล้ว จำเลยยังมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยอีก 100,000 บาท ตามข้อสัญญาด้วยหรือไม่ซึ่งในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1ซึ่งในสัญญาดังกล่าวข้อ 2 ระบุว่า คู่สัญญาได้ตกลงราคาที่จะซื้อขายกันคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,750,000 บาทโดยในวันทำสัญญานี้ (วันที่ 9 ธันวาคม 2537) ผู้ซื้อได้วางมัดจำไว้จำนวน 250,000 บาท ซึ่งผู้ขายจะได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้วและผู้ซื้อตกลงจะชำระเงินอีก 800,000 บาทภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2538 และสัญญาข้อ 3 ระบุว่าเงินส่วนที่เหลือจำนวน 700,000 บาท คู่สัญญาตกลงจะชำระกันในวันที่ 1 ธันวาคม 2538 และผู้ขายตกลงจะไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ซื้อในวันเดียวกับที่ผู้ซื้อชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าว ต่อมาปรากฏว่า โจทก์ผิดสัญญาโดยชำระเงินงวดที่ 2 ให้จำเลยเพียง 100,000 บาทรวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยไปทั้งสิ้น 350,000 บาทนอกจากนี้ยังได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ด้วยว่า สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวมีข้อตกลงด้วยว่า หากโจทก์ผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งให้จำเลยริบเงินค่าที่ดินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมดด้วย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ตามสัญญาจะซื้อขายข้อ 2 และ ข้อ 3 ดังกล่าว โจทก์กับจำเลยตกลงแบ่งชำระราคาที่ดินเป็น 3 งวด งวดแรกกำหนดชำระในวันทำสัญญาจำนวน 250,000 บาท โดยให้ถือเป็นมัดจำด้วย ส่วนงวดที่ 2จำนวน 800,000 บาท และงวดที่ 3 จำนวน 700,000 บาทจะชำระในภายหลัง ดังนี้ จึงถือว่ามีการวางเงินมัดจำตามสัญญาดังกล่าวเพียง 250,000 บาท เท่านั้น ส่วนปัญหาว่าเงินค่าที่ดินที่เหลือที่โจทก์ชำระอีกเพียง 100,000 บาท และมีข้อตกลงว่าหากโจทก์ผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งให้จำเลยริบเงินค่าที่ดินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมดจะถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับซึ่งหากสูงเกินส่วนความเสียหายศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาหรือไม่นั้น เห็นว่าเบี้ยปรับคือค่าเสียหายจำนวนหนึ่งที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าซึ่งความเสียหายนั้นอาจจะมีหรือเกิดขึ้นเนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาในภายหน้าเพื่อให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง สำหรับสัญญาจะซื้อขายข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงข้อสัญญากำหนดจำนวนเงินค่าที่ดินที่เหลือที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยเป็นงวด ๆตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ไม่แน่ว่าเมื่อถึงกำหนดเวลาชำระเงินแต่ละงวดโจทก์จะชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนหรือชำระมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้จะมีข้อสัญญาว่าหากโจทก์ผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งให้จำเลยริบเงินค่าที่ดินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมดได้ ก็หาได้มีลักษณะเป็นการกำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับได้ไม่ ดังนี้ เงินจำนวน100,000 บาท ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจลดลงได้ หากแต่เป็นเงินค่าที่ดินส่วนหนึ่งที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญา ซึ่งเมื่อข้อสัญญาให้สิทธิจำเลยริบเงินค่าที่ดินที่โจทก์ชำระไว้แล้วได้หากโจทก์ผิดสัญญา และปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยย่อมชอบที่จะริบเงินจำนวน100,000 บาท ได้ทั้งหมดตามข้อสัญญาที่โจทก์ตกลงกับจำเลยไว้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินค่าที่ดิน50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2