คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3482/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ ได้ สิทธิ ภารจำยอม โดย อายุความ ตาม คำพิพากษา ของ ศาล โจทก์ บอกกล่าว ให้ จำเลย เจ้าของ ภารยทรัพย์ ไป ดำเนินการ จดทะเบียน สิทธิ ภารจำยอม ที่ โจทก์ ได้ มา แต่ จำเลย เพิกเฉย ถือได้ว่า เป็น การ โต้แย้ง สิทธิ ของ โจทก์ โจทก์ ซึ่ง เป็น เจ้าของ สามยทรัพย์ จึง ฟ้อง จำเลย ใน ฐานะ เจ้าของ ภารยทรัพย์ ให้ จดทะเบียน สิทธิ ภารจำยอม ให้ แก่ โจทก์ ได้ คดี ก่อน โจทก์ ฟ้อง ส . เจ้าของ ภารยทรัพย์ ที่ จำเลย รับโอน ต่อมา โดย จำเลย มิได้ เป็น คู่ความ ใน คดี นั้น ก็ ตาม แต่เมื่อ คดี ก่อน ศาล มี คำพิพากษา ว่า โจทก์ ได้ สิทธิ ภารจำยอม ใน ทางพิพาท ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบ มาตรา 1382 จึง เป็น กรณี ที่ โจทก์ ได้ สิทธิ ภารจำยอม อันเป็น ทรัพย์ สิทธิ อัน เกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ โดย ทาง อื่น นอกจาก ทาง นิติกรรม ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง เป็น ทรัพย์ สิทธิ คน ละ ประเภท กับ กรรมสิทธิ์ ที่ เจ้าของ กรรมสิทธิ์ มีอำนาจ ใน อสังหาริมทรัพย์ ของ ตนเอง และ ภารจำยอม เป็น ทรัพย์ ที่ กฎหมาย บัญญัติ เพื่อ ประโยชน์ แก่ อสังหาริมทรัพย์ มิได้ มุ่ง เพื่อ ประโยชน์ ของ บุคคล หนึ่ง บุคคล ใด โดยเฉพาะ ภารจำยอม จึง ย่อม ตก ติด ไป กับ อสังหาริมทรัพย์ ที่ เป็น สามยทรัพย์ และ ภารยทรัพย์ แม้ จะ มี การ โอน อสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว ไป ให้ แก่ บุคคลอื่น ภารจำยอม ก็ หา ได้ หมดสิ้น ไป ไม่ เว้นแต่ กรณี จะ ต้อง ตาม บทบัญญัติ ของ กฎหมาย เท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่า จำเลย จะ รับโอน ที่พิพาท มา โดยสุจริต หรือไม่ ก็ ตาม ก็ ไม่อาจ จะ ยกขึ้น ต่อสู้ กับ สิทธิ ภารจำยอม ของ โจทก์ ได้ คำพิพากษา ศาล ดังกล่าว จึง ผูกพัน จำเลย ด้วย ใน ฐานะ ที่ เป็น เจ้าของ ภารยทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ฟ้องนายสุนทรต่อศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสี่ได้ภารจำยอมในทางพิพาทตามคดีหมายเลขแดงที่ 2950/2536 แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่สามารถนำคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปจดทะเบียนภารจำยอมได้ เนื่องจากนายสุนทรได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลย โจทก์ทั้งสี่แจ้งให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์ทั้งสี่แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ห้ามจำเลยกระทำการป้องกัน ขัดขวางโจทก์ทั้งสี่และบริวารในการใช้ทางพิพาทในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 12340 ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 12340ให้โจทก์ทั้งสี่และให้จำเลยไปจดทะเบียนให้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยปิดกั้นทางพิพาทจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสี่และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันจำเลยไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้องไปจดทะเบียนภารจำยอมและจำเลยไม่ใช่คู่ความตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 2950/2536 คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ค่าใช้ทางแก่จำเลยเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสี่จะเลิกใช้ทางพิพาท โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทกว้าง 6 เมตรยาวตลอดแนวที่ดินจากทิศตะวันออกไปจดทิศตะวันตกตรงแนวกึ่งกลางในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 12340 ของจำเลยเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 8725, 8723,8718 และ 8717 ของโจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางภารจำยอมดังกล่าว หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยขัดขวางในการที่โจทก์ทั้งสี่และบริวารจะใช้ทางพิพาท ยกฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าโจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ผลแห่งคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2950/2536 ของศาลแพ่งธนบุรีผูกพันจำเลยหรือไม่ และทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ในประเด็นแรกจำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เคยปิดกั้นหรือขัดขวางมิให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะและโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้สิทธิภารจำยอมตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมในทางพิพาทให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ ๆ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ ๆ ได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 2950/2536ของศาลแพ่งธนบุรี จำเลยเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ โจทก์ทั้งสี่บอกกล่าวให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมที่โจทก์ทั้งสี่ได้มาตามผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉยแม้จำเลยจะมิได้กระทำการป้องกันหรือขัดขวางมิให้โจทก์ทั้งสี่และบริวารใช้ทางพิพาทก็ตาม แต่การที่จำเลยไม่ดำเนินการไปจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ที่ควรจะได้จดทะเบียนสิทธิภารจำยอมดังกล่าว การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิภารจำยอม จึงเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภารจำยอมของโจทก์ทั้งสี่อย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์จดทะเบียนทางภารจำยอมให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่มีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยมิให้ป้องกันขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์ทั้งสี่และบริวารเป็นเพียงคำขอบังคับล่วงหน้าเพื่อป้องกันมิให้จำเลยขัดขวางการใช้ทางพิพาทเท่านั้น จึงไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องมีการกระทำตามที่โจทก์ทั้งสี่ขอบังคับก่อน โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ในปัญหาที่ว่าผลแห่งคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2950/2536 ของศาลแพ่งธนบุรี ผูกพันจำเลยหรือไม่นั้นเห็นว่า ในคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสี่ฟ้องนายสุนทรเจ้าของภารยทรัพย์ที่จำเลยรับโอนต่อมา และศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสี่ได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 คำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นการที่โจทก์ทั้งสี่ได้สิทธิภารจำยอมอันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองซึ่งสิทธิภารจำยอมดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิที่จำกัดตัดทอนอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นทรัพยสิทธิคนละประเภทกับกรรมสิทธิ์ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์มีอำนาจในอสังหาริมทรัพย์ของตนเองและเนื่องจากภารจำยอมเป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์มิได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะภารจำยอมจึงย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้จะมีการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปให้แก่บุคคลอื่น ภารจำยอมก็หาได้หมดสิ้นไปเว้นแต่กรณีจะต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น ภารจำยอมจึงจะระงับดังนั้นไม่ว่าจำเลยจะรับโอนที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ก็ตามก็ไม่อาจจะยกขึ้นต่อสู้กับสิทธิภารจำยอมของโจทก์ทั้งสี่ได้คำพิพากษาศาลแพ่งธนบุรีดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์ พิพากษายืน

Share