แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลฎีกาเปรียบเทียบลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้กับลายมือชื่อของจำเลยที่เคยลงไว้ในสมุด จ่ายเงินเดือน เงินค่าครองชีพ สมุด รายงาน เงินคงเหลือประจำวัน รวมทั้งจดหมายที่จำเลยอ้างความจำเป็นในการขอกู้ยืมเงินจากโจทก์แล้ว เห็นได้ด้วยตาเปล่าว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน เชื่อ ว่าเป็นลายมือเขียนของบุคคลเดียวกัน โจทก์มีฐานะดีกว่าจำเลย เป็นครูโรงเรียนเดียวกัน ไม่มีเหตุผลใด ที่จะปลอมสัญญากู้ขึ้นมาฟ้องจำเลยด้วยเงินไม่กี่หมื่นบาทอันเป็นการเสี่ยงต่ออาญาบ้านเมืองและถูกไล่ออกจากราชการ ส่วนเอกสารที่จำเลยอ้างว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่แท้จริงก็มีรอยขูดลบแล้วลงลายมือชื่อใหม่ มีลักษณะผิดเพี้ยนอันเป็นการผิดปกติรับฟังไม่ได้ พยานหลักฐานจากโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าเชื่อ ว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินไปตามฟ้องจริง สัญญากู้ปิดอากรแสตมป์ไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เพื่อมิให้นำไปใช้ได้อีก แม้ไม่ได้ลงวันเดือนปีไว้ที่อากรแสตมป์ก็ตามถือว่าเป็นการปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามป.รัษฎากร มาตรา 103 แล้ว จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์ 3 ครั้งรวมเป็นเงิน37,450 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่กู้ยืมเงินไปจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยและต้นเงินให้โจทก์เลยโจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยขอผัดผ่อนเรื่อยมาโจทก์คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 22,216,.69 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน59,666.69 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน37,450 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องทั้งสามฉบับเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 59,666.69 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 37,450 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ รวม 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5กันยายน 2525 เป็นเงิน 10,000 บาท ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2526 เป็นเงิน 20,000 บาท และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2527 เป็นเงิน 7,450 บาท ตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.2 ถึง จ.4 จำเลยเลิกความว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์และไม่เคยลงชื่อในสัญญากู้ทั้งสามฉบับ ศาลฎีกาได้เปรียบเทียบลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 กับลายมือชื่อของจำเลยที่ลงไว้ในสมุดจ่ายเงินเดือน สมุดจ่ายเงินค่าครองชีพของข้าราชการโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา สมุดรายงานเงินคงเหลือประจำวัน (ในช่องผู้รับเงิน) ในช่วงปี 2525 ถึง ปี 2527และสมุดลงเวลามาปฏิบัติราชการครูโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยาตามเอกสารหมาย จ.8, จ.9, จ.25, จ.28 ถึง จ.32 แล้ว เห็นได้ด้วยตาเปล่าว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน และโจทก์มีนางสาวรัชดาศรีสุริยสวัสดิ์ บุตรสาวโจทก์มาเบิกความสนับสนุนว่าก่อนที่จะมีการทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ประมาณ 2 ถึง 3 วัน จำเลยมาหาโจทก์ที่บ้านแต่ไม่พบโจทก์ จำเลยจึงขอกระดาษเปล่าจากพยานและเขียนจดหมายฝากพยานไว้ตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งมีข้อความบรรยายถึงความจำเป็นที่จำเลยจะต้องขอกู้ยืมเงินจากโจทก์อีก 20,000 บาท ไว้โดยละเอียดศาลฎีกาได้ตรวจเปรียบเทียบลายมือเชียนในเอกสารหมาย จ.10กับลายมือเขียนในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 แล้วมีลักษณะคล้ายคลึงกัน น่าเชื่อว่าเป็นลายมือเขียนของคนคนเดียวกัน ตามทางนำสืบของโจทก์จำเลย ได้ความว่าโจทก์จำเลยเป็นครูอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน โจทก์มีโรงเรียนอนุบาลเป็นของตนเอง และมีฐานะดีกว่าจำเลย ไม่มีเหตุผลใดที่จะส่อแสดงว่าโจทก์จะปลอมสัญญากู้ขึ้นมาเองเพื่อฟ้องจำเลยด้วยเงินเพียงไม่กี่หมื่นบาท อันจะเป็นการเสี่ยงต่ออาญาบ้านเมืองและถูกไล่ออกจากราชการ ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เป็นลายมือชื่อปลอม ลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลยมีตัวอย่างดังเช่นเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.6นั้น ปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นสำเนาเอกสารซึ่งถ่ายมาจากเอกสารหมาย จ.33 ถึง จ.35 จำเลยเป็นผู้เขียนและลงลายมือชื่อและเป็นผู้เก็บเอกสารดังกล่าวไว้ ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวมีรอยขูดลบลายมือชื่อออกแล้วลงลายมือชื่อใหม่ทุกแผ่น ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก รับฟังไม่ได้ ส่วนเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6นั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของจำเลยที่ลงไว้ในเอกสารหมาย จ.30 และ จ.32 แล้ว ปรากฏว่าลายมือชื่อที่ลงไว้ในเอกสารหมาย จ.30 และ จ.32 แต่ละวันคล้ายคลึงกัน คงมีลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 ที่ผิดเพี้ยนไปไม่เหมือนกับวันอื่น อันเป็นการผิดปกติ เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย รูปคดีน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ให้จำเลยกู้ยืมเงินไปตามฟ้องโจทก์จริง ที่จำเลยฎีกาว่านางสาวรัชดาเป็นบุตรสาวโจทก์จึงเบิกความเข้าข้างโจทก์ฝ่ายเดียวนั้นเห็นว่า พยานโจทก์ปากนี้เบิกความเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.10ตามที่พยานรู้เห็นเท่านั้น มิได้เบิกความว่ารู้เห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีพฤติการณืตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าพยานเบิกความเข้าข้างโจทก์แต่ประการใด ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า สัญญากู้ทั้งสามฉบับไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่าแม้จะได้ความว่าอากรแสตมป์ที่ปิดในสัญญากู้ทั้งสามฉบับไม่ได้ลงวันเดือน ปี แต่สัญญากู้ทั้งสามฉบับได้ปิดอากรแสตมป์ เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษเพื่อมิให้อากรแสตมป์ใช้ได้อีก เป็นการปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้…”
พิพากษายืน.