คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2925/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) ซึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาฎีกา ให้จำเลย ตามมาตรา 70 วรรคสอง ปรากฏว่านับแต่ วันโจทก์ไปยื่นฎีกาไว้แล้ว โจทก์มิได้ไปจัดการนำส่งสำเนาฎีกา และเสียค่าธรรมเนียมในการส่งตามกฎหมาย คงปล่อยทิ้งไว้ จนถึงวันที่เจ้าพนักงานศาลได้รายงานให้ศาลชั้นต้น ทราบเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือนเศษ อันเป็นเวลานานเกินสมควร ถือได้ว่าโจทก์ทิ้งฎีกาตามมาตรา 174(2)ประกอบด้วยมาตรา 246,247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนการยึดหรืออายัดที่ดิน หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม2533 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2533 ว่า”รับเป็นฎีกาของโจทก์ สำเนาให้จำเลย โจทก์นำส่งภายใน 7 วันไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้” ศาลได้ออกหมายนัดถึงทนายจำเลยส่งสำเนาฎีกาให้แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534พนักงานเจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้ปลดหมายส่งกรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2533 แต่กรมบังคับคดียังมิได้ส่งรายงานการเดินหมายคืนมา ศาลชั้นต้นให้มีหนังสือสอบไป วันที่ 25 ธันวาคม 2534 หัวหน้าฝ่ายเดินหมายและประกาศกรมบังคับคดีรายงานว่า คดีนี้คู่ความไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลฎีกา
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฎีกาเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) ซึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคสองปรากฏว่า นับแต่วันโจทก์ไปยื่นฎีกาไว้แล้ว โจทก์มิได้ไปจัดการนำส่งสำเนาฎีกา และเสียค่าธรรมเนียมในการส่งตามกฎหมาย คงปล่อยทิ้งไว้จนถึงวันที่หัวหน้าฝ่ายเดินหมายและประกาศกรมบังคับคดีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานศาลได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบเป็นเวลา 1 ปี8 เดือนเศษ อันเป็นเวลานานเกินสมควร พฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์ทิ้งฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)ประกอบด้วยมาตรา 246, 247″
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา

Share