คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 183/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์และบิดาจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกัน ต่อมาได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยบันทึกข้อตกลงแบ่งแยกให้บิดาจำเลยได้เนื้อที่ 1 ใน 5 ส่วน โจทก์และบิดาจำเลยลงชื่อไว้ บันทึกนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และเป็นข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364 จึงผูกพันโจทก์และบิดาจำเลย เมื่อบิดาจำเลยตายจำเลยรับมรดกที่ดินมาก็ย่อมผูกพันจำเลยด้วย การที่โจทก์อ้างว่าต้องแบ่งตามที่โจทก์ครอบครอง เป็นการขัดกับข้อความในบันทึกข้อตกลงส่วนที่โจทก์ยื่นคำขอยกเลิกคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม โดยกระทำไปฝ่ายเดียวอ้างว่าบิดาจำเลยตายแล้วนั้น ไม่มีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมระงับไปเพราะจำเลยซึ่งเป็นทายาทมิได้ยินยอม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกับจำเลยทั้งสองซึ่งรับมรดกมาจากบิดา โจทก์มีกรรมสิทธิ์ 2 ไร่ 78 ตารางวาจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ 1 งาน 58 ตารางวา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยก จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์หนึ่งในห้าส่วน เป็นเนื้อที่ 2 งาน7 ตารางวา โจทก์มีกรรมสิทธิ์เพียง 2 ไร่ 29 ตารางวา ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์แบ่งแยกให้จำเลยทั้งสองมีเนื้อที่ 2 งาน 7 ตารางวาหรือหนึ่งในห้าของเนื้อที่ทั้งหมด โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าจำเลยทั้งสองรับมรดกมาจากบิดาซึ่งมีกรรมสิทธิ์อยู่เพียง 1 งาน58 ตารางวา โจทก์ครอบครองเนื้อที่ 2 ไร่ 78 ตารางวาโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมา 19 ปีแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยทั้งสองจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์โดยถือตามแผนที่วิวาทหมาย ล.3 ให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งตามที่ครอบครองเป็นเนื้อที่1 งาน 47 ตารางวา จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งเป็นเนื้อที่ 1 ใน 5 ของที่ดินทั้งหมดโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงคงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกันในโฉนดที่ 1547 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่จำนวนเนื้อที่ดินตามโฉนด 2 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา (เนื้อที่ดินคำนวณได้ตามแผนที่วิวาท 2 ไร่ 3 งาน 8 5/10 ตารางวา) โดยจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปัญหามีว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเพียงใด
จำเลยทั้งสองเบิกความว่า ขณะบิดาจำเลยทั้งสองยังมีชีวิตอยู่นั้น บิดาจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทอยู่ 1 ใน 5 ส่วน ของที่ดินตามโฉนด ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม 2525บิดาจำเลยทั้งสองและโจทก์ได้ร่วมกันไปยื่นคำร้องขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามสำเนาภาพถ่ายบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม หมาย ล.1 โจทก์เองก็เบิกความยอมรับว่า โจทก์ลงชื่อในเอกสารขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวจริง เพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าต่อมาโจทก์ได้ไปยื่นคำร้องขอยกเลิกการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมตามสำเนาภาพถ่ายคำขอยกเลิกคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมหมาย ล.2ศาลฎีกาได้พิเคราะห์เอกสารหมาย ล.1 แล้วเห็นว่า มีข้อความบ่งชี้ว่าเป็นบันทึกข้อตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมโฉนดที่ดินที่ 1547 คือที่ดินแปลงพิพาทนี้ ระหว่างโจทก์และนายปั๋นบิดาจำเลยทั้งสองและบันทึกนี้ระบุว่า โจทก์และนายปั๋น ตกลงแบ่งแยกที่ดินออกจากกันคือแยกไปทางทิศตะวันตก ด้านเหนือเป็นของนายปั๋น ให้ได้เนื้อที่1 ใน 5 ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมด ส่วนแปลงคงเหลือเป็นของโจทก์โจทก์และนายปั๋นลงชื่อไว้ในบันทึกดังกล่าวต่อหน้าพยานและเจ้าพนักงานที่ดิน บันทึกดังกล่าวนี้ซึ่งทำขึ้นในวันที่ 28 พฤษภาคม2525 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้เพียง 7 เดือนเศษ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และเป็นข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364 ด้วย จึงผูกพันโจทก์ และนายปั๋น และเมื่อนายปั๋นถึงแก่กรรมจำเลยทั้งสองรับโอนมรดกที่ดินแปลงนี้ในส่วนของนายปั๋นก็ย่อมผูกพันจำเลยทั้งสองด้วย โจทก์จะอ้างการครอบครองปรปักษ์มาหักล้างข้อตกลงดังกล่าวหาได้ไม่ ส่วนที่โจทก์ได้ยื่นคำขอยกเลิกคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมตามสำเนาภาพถ่ายคำขอดังกล่าวหมาย ล.2 นั้นเป็นคำขอที่โจทก์ได้กระทำฝ่ายเดียว โดยอ้างเหตุว่านายปั๋นถึงแก่กรรมแล้วนั้นหามีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวระงับไปไม่ เพราะจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายปั๋นมิได้ยินยอมด้วย ที่โจทก์อ้างว่าบันทึกข้อตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวหมายถึงแบ่งแยกที่ดินตามส่วนที่กั้นรั้วครอบครองกันอยู่นั้นไม่อาจรับฟังได้ เพราะขัดกับข้อความในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัดและหากโจทก์เข้าใจเช่นนั้นจริงโจทก์คงจะไม่ไปยื่นคำขอยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวเป็นแน่ ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะนั้น โจทก์เพิ่งกล่าวอ้างเช่นนี้ในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาทแทนจำเลยทั้งสอง”

Share