คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5014/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ลักทรัพย์ รับของโจร
++ จำเลยฎีกา
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 8 หน้า 206 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++

ย่อยาว

เรื่อง ลักทรัพย์ รับของโจร
จำเลย ฎีกาคัดค้าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๑๕ เดือน มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
ศาลฎีกา รับวันที่ ๓ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๒
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๑เวลากลางคืนก่อนเที่ยง มีคนร้ายเอาแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตบางซื่อของพรรคประชาธิปัตย์ และพลโทอาชวัน อินทรเกสรผู้เสียหายที่ ๑ จำนวน ๓ แผ่น ราคา ๒๔,๐๐๐ บาท แผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตบางซื่อพรรคประชากรไทย และนางชั้น ทองเพ่งพิศผู้เสียหายที่ ๒ จำนวน ๔ แผ่น รวมราคา ๔,๐๐๐ บาท แผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตบางซื่อ กลุ่มพลังไทย และนายมาโนช เต็งมณีวิวัฒน์ผู้เสียหายที่ ๓ จำนวน ๑ แผ่น ราคา ๓,๐๐๐ บาท ไปโดยทุจริตโดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวคนร้ายได้ใช้รถยนต์กระบะจำนวน ๑ คันเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกในการลักทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมยึดรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ๑ ฎ – ๕๑๔๐ กรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้บรรทุกแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้เสียหายทั้งสามดังกล่าวเป็นของกลางซึ่งทางสอบสวนได้ความว่า จำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ หรือมิฉะนั้นตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้ช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่ายรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์แผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงของผู้เสียหายทั้งสามไว้จากคนร้าย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ อันเป็นการรับของโจร เหตุเกิดที่แขวงบางซื่อเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓, ๓๓๔, ๓๓๕, ๓๓๖ ทวิ, ๓๕๗ และสั่งริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๑ ฎ – ๕๑๔๐ กรุงเทพมหานคร ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพฐานลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) (ที่ถูกมาตรา ๓๓๕ (๑)วรรคแรก), ๓๓๖ ทวิ จำคุก ๔ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๑ ฎ – ๕๑๔๐ กรุงเทพมหานคร
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ไม่ริบของกลางและลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๒ ปีและปรับ ๔,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก ๑ ปี และปรับ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ให้ยกฟ้องฐานรับของโจร นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้ไม่ริบของกลาง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ๑ ฎ – ๕๑๔๐กรุงเทพมหานคร ของกลาง เป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำผิดซึ่งศาลมีอำนาจสั่งริบได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑)หรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑)นั้น มีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้น ๆ โดยตรง คือทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย ซึ่งต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไป สำหรับคดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า ในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยใช้รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ๑ ฎ – ๕๑๔๐ กรุงเทพมหานคร ของกลาง เป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม แต่ก็มิได้ความว่า จำเลยได้ใช้รถยนต์กระบะดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์แผ่นป้ายของผู้เสียหายทั้งสาม อันจะให้ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้กระทำความผิด แม้การกระทำของจำเลยตามฟ้องจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) วรรคแรก, ๓๓๖ ทวิก็ตาม แต่ตามมาตรา ๓๓๖ ทวิ ก็เป็นเพียงบทบัญญัติให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ (๑) วรรคสอง หนักขึ้นเพราะเหตุที่จำเลยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสาม หรือพาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสามที่จำเลยลักได้มานั้นไป หรือเพื่อให้จำเลยพ้นจากการจับกุมเท่านั้น รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ๑ ฎ – ๕๑๔๐ กรุงเทพมหานคร ของกลาง จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ๑ ฎ – ๕๑๔๐กรุงเทพมหานคร ของกลาง นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้ริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ๑ ฎ – ๕๑๔๐ กรุงเทพมหานคร ของกลางเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share