คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การที่โจทก์ลาออกจากงานก่อนกำหนด ตามข้อบังคับของจำเลยโจทก์ต้องได้รับความเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของจำเลยก่อนและคณะกรรมการบริหารของจำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้ภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ คือ 1. ต้องเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2539/40เพื่อตอบข้อซักถามของที่ประชุมเกี่ยวกับบัญชีงบดุล 2. จะพึงปฏิบัติต่อผู้ตรวจสอบบัญชีโดยเคร่งครัด 3. สิทธิที่พึงได้รับตามระเบียบร้านฯ จะได้รับต่อเมื่อปิดงบดุลเสร็จสิ้น 4. ให้เสนอทำบัญชีงบทดรองมาให้คณะกรรมการพิจารณาในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 และอนุมัติจัดจ้างโจทก์นอกเวลาตามอัตราค่าจ้างเดิม โจทก์ตกลงกับจำเลยถือว่าโจทก์สละเงื่อนเวลาในการรับเงินที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับไปจนกว่าปิดงบดุลเสร็จนั้นก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงดังกล่าวได้ หลังจากนั้น ค.กรรมการรักษาการผู้จัดการได้มีหนังสือถึงโจทก์ มีข้อความว่า”ตามที่โจทก์ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ให้ทำการปิดบัญชีประจำปี 2539 ให้เสร็จภายในกำหนดแต่เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงได้ คณะกรรมการฯ มีมติให้ความรับผิดชอบของโจทก์ในการปิดบัญชีครั้งนี้สิ้นสุดลงทันที” ย่อมมีผลเท่ากับจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาออกโดยไม่ถือเอาประโยชน์ตามข้อดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามสิทธิของโจทก์อันจะพึงได้รับให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ 97,380 บาท เงินสะสม55,202.58 บาท เงินสมทบ56,411.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันลาออกจนกว่าชำระเสร็จและค่าจ้างค้าง 21,099 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ก่อนโจทก์ลาออก โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการร้านดูแลรับผิดชอบฝ่ายบัญชี ได้รับมอบหมายจัดทำงบการเงินประจำปี โดยโจทก์ให้สัญญาว่าจะทำและปิดบัญชีให้เสร็จในเดือนกรกฎาคม 2540 หากไม่เสร็จจะขอรับเงินอันพึงได้จากการลาออกภายหลังจากการทำงบดุลเสร็จ และค่าจ้าง 21,099 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง เพราะจำเลยมิได้ว่าจ้างให้โจทก์ทำงานต่อ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เงินสะสม เงินสมทบค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ 97,380 บาท เงินสะสม55,202.58 บาท เงินสมทบ 56,411.50 บาท และค่าจ้าง 21,099 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ลาออกจากงานก่อนกำหนดตามข้อบังคับโจทก์ต้องได้รับความเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของจำเลยก่อนคณะกรรมการบริหารของจำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้ภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ คือ1. ต้องเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2539/40 เพื่อตอบข้อซักถามของที่ประชุมเกี่ยวกับบัญชีงบดุล2. จะพึงปฏิบัติต่อผู้ตรวจสอบบัญชีโดยเคร่งครัด 3. สิทธิที่พึงได้รับตามระเบียบร้านฯ จะได้รับต่อเมื่อปิดงบดุลเสร็จสิ้น4. ให้เสนอทำบัญชีงบทดรองมาให้คณะกรรมการพิจารณาในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 และอนุมัติจัดจ้างโจทก์นอกเวลาตามอัตราค่าจ้างเดิมโจทก์ตกลงกับจำเลยถือว่าโจทก์สละเงื่อนเวลาในการรับเงินที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับไปจนกว่าปิดงบดุลเสร็จนั้นเห็นว่า เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เงินสะสม เงินสมทบ และค่าจ้างตามฟ้องอยู่แล้วการที่โจทก์มีหนังสือลาออกจากงาน จำเลยอนุมัติให้ลาออกภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ เมื่อโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงได้ ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 นายคมจักร ปะหะกิจ กรรมการรักษาการผู้จัดการได้มีหนังสือถึงโจทก์ มีข้อความว่า”ตามที่โจทก์ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ให้ทำการการปิดบัญชีประจำปี 2539ให้เสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2540แต่เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงได้คณะกรรมการฯ มีมติให้ความรับผิดชอบของโจทก์ในการปิดบัญชีครั้งนี้สิ้นสุดลงทันที” เห็นได้ว่า การที่คณะกรรมการจำเลยมีมติให้ความรับผิดชอบของโจทก์ในการปิดบัญชีครั้งนี้สิ้นสุดลงทันที มีผลเท่ากับจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาออกโดยไม่ถือเอาประโยชน์ตามเงื่อนไขทั้งสี่ข้อดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามสิทธิของโจทก์อันจะพึงได้รับให้แก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share