แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยขาดบัญชีไประหว่างวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2504 ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2505 แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2525 ว่าจำเลยกระทำผิดระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน 2505 ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2505 โดยหาได้มีข้อเท็จจริงใด ๆ ที่แสดงว่าจำเลยเริ่มกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2505 ตามฟ้องไม่ เป็นเพียงแต่ถือเอาตามระยะเวลาดังกล่าวเพื่อมิให้คดีโจทก์ขาดอายุความเท่านั้น เพราะหากฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2505 แล้วคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 20 ปี คดีจะขาดอายุความ การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวในฟ้อง จึงปราศจากหลักเกณฑ์ที่แน่นอน และมิใช่วันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดอันแท้จริง เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดที่แท้จริงเมื่อใดและการกระทำความผิดของจำเลยอยู่ในช่วงระยะเวลาที่ไม่ขาดอายุความแล้ว ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๕ ถึงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๕ จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเงิน สำนักงานเลขานุการ สำนักงาน ก.พ.และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายจำเลยมีหน้าที่ทำฎีกา เบิกเงิน รับเงิน จ่ายเงินและเก็บรักษาเงิน ทั้งเงินในงบประมาณและเงินนอกงบประมาณทุกประเภทของสำนักงาน ก.พ. ทำบัญชีเงินสด ฯลฯ จำเลยได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ทำ จัดการ และอยู่ในความดูแลรักษารับผิดชอบของจำเลย เป็นของตนและผู้อื่นโดยทุจริตเป็นเงิน ๕๒๐,๙๐๗.๕๕ บาท และระหว่างวันที่ดังกล่าวข้างต้น จำเลยได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตโดยนำเงินออกไปโดยปราศจากหลักฐานอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และได้เบียดบังเอาเงินจำนวน ๕๒๐,๙๐๗.๕๕ บาท ซึ่งเป็นของสำนักงาน ก.พ. ไปเป็นของตนและผู้อื่นโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๑ ที่แก้ไขแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๔๗ เนื่องจากจำเลยอายุ ๖๖ ปี และนำเงินมาใช้คืนให้สำนักงาน ก.พ. ครบถ้วนแล้ว จึงให้จำคุกจำเลย ๕ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๕ กรรมการตรวจเงินแผ่นดินตรวจบัญชีเงินสดและหลักฐานแทนตัวเงินกับตัวเงินสดและหลักฐานแทนตัวเงินซึ่งจำเลยนำมาให้ตรวจแล้ว ปรากฏว่าขาดไป ๕๕๖,๙๐๗.๕๕ บาท ต่อมาจำเลยมีหลักฐานว่าได้จ่ายไปโดยถูกต้อง ๓๖,๐๐๐ บาทยังคงขาดไปอีก ๕๒๐,๙๐๗.๕๕ บาท เงินจำนวนดังกล่าวกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไม่สามารถแยกออกว่าบัญชีประเภทไหนขาดไปเท่าใด เมื่อใด เพราะบัญชีลงไว้ไม่เรียบร้อยและหลักฐานสับสน หนังสือของประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินถึงอธิบดีกรมตำรวจตามเอกสารหมาย จ.๑๐ กล่าวว่าการยักยอกเงินของสำนักงาน ก.พ. จะต้องเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๐๓ ถึงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๕ โดยถือเอาการตรวจเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๓ เป็นหลัก แต่ปรากฏว่าในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ กรรมการตรวจเงินแผ่นดินทำการตรวจบัญชีประจำปีแล้วพบว่าเงินขาดเพียง ๑๓.๕๖ บาท คำนวณเวลาจากการตรวจครั้งนี้ถึงการตรวจเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๕ แล้ว เป็นเวลา ๕๓๕ วัน อันเป็นช่วงระยะเวลาที่จำเลยเบียดบังเอาเงินของสำนักงาน ก.พ.ไป แต่โจทก์กลับฟ้องเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๕ ว่าจำเลยกระทำความผิดระหว่างวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๕ ถึงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ซึ่งมีระยะเวลาเพียง ๓๙ วัน โดยหาได้มีข้อเท็จจริงใด ๆ ที่แสดงว่าจำเลยเริ่มกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๕ ตามฟ้องไม่ เป็นเพียงแต่ถือเอาตามระยะเวลาดังกล่าว เพื่อมิให้คดีโจทก์ขาดอายุความเท่านั้น เฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเงินที่จำเลยเบียดบังเอาไปเป็นจำนวนมาก จำเลยต้องกระทำการดังกล่าวเป็นเวลาต่อเนื่องกันนานพอสมควร และอาจเป็นการกระทำก่อนวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๕ ก็ได้ เพียงแต่ว่าได้มีการตรวจพบครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ว่าเงินขาดจำนวน ๕๕๖,๙๐๗.๕๕ บาท จะถือว่าจำเลยได้กระทำผิดในระยะที่ตรวจพบหาได้ไม่เพราะมิฉะนั้นแล้ว วันเวลาที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดก็จะขึ้นอยู่กับการที่กรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะตรวจสอบบัญชีเมื่อใด กล่าวคือ หากกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทำการตรวจบัญชีเนิ่นช้าไปเพียงใด ก็จะเป็นผลให้โจทก์สามารถบรรยายวันเวลากระทำความผิดของจำเลยยืดออกไปอีก เป็นการยืดอายุความในการกระทำความผิดที่ได้กระทำไปก่อนแล้วในทางตรงกันข้ามหากมีการตรวจสอบบัญชีเร็วขึ้นเพียงใด ก็จะทำให้ระยะเวลาที่โจทก์สามารถบรรยายว่าเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดน้อยลง ยิ่งได้มีการตรวจสอบบัญชีก่อนวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๔ ถึง ๓๙ วันแล้ว คดีโจทก์ก็จะขาดอายุความ โจทก์ไม่สามารถมีวันเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดโดยไม่ขาดอายุความได้เลย ดังนี้จึงเห็นว่าการที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดระหว่างวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๕ ถึงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๕ นั้น ปราศจากหลักเกณฑ์ที่แน่นอน และมิใช่วันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดอันแท้จริง เหตุที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงระยะเวลาที่กล่าวในฟ้อง ก็เพราะหากฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดก่อนวันที่ ๑๗มิถุนายน ๒๕๐๕ แล้ว คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน ๒๐ ปี คดีขาดอายุความดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วนั่นเองเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดที่แท้จริงเมื่อใด และการกระทำความผิดของจำเลยอยู่ในช่วงระยะเวลาที่ไม่ขาดอายุความแล้ว คดีก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง