แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่
โจทก์ฟ้องขอให้ริบของกลางทั้งหมด แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบของกลางดังกล่าวหรือไม่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองยังไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และการริบทรัพย์สินของกลางนี้ไม่เป็นการเพิ่มโทษจำเลย จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดและมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 289, 339, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 12, 13, 18, 62, 81 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) (7), 339 วรรคท้าย, 340 ตรี, 371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 72 ทวิ วรรคหนึ่ง (ที่ถูก วรรคสอง), 78 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11 (ที่ถูก ต้องปรับบทมาตรา 12, 18 ด้วย), 62 วรรคหนึ่ง, 81 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแก่การที่ตนได้กระทำผิดอื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนทำไว้ เป็นกรรมเดียวต้องด้วยกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวมห้ากรรม ให้ประหารชีวิตทุกกระทง ฐานมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนที่มิได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 3 ปี ฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ให้จำคุก 4 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 3 ปี ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จำคุก 1 เดือน ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 1 เดือน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม สมควรลงโทษสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเพราะเหตุจำนนต่อหลักฐาน กรณีไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ จึงไม่ลดโทษให้จำเลย เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วก็ไม่อาจจำคุกได้อีก คงลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมต้องด้วยเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่พึงจะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปดังฎีกาของจำเลยไม่ การที่จำเลยชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแก่การที่ตนได้กระทำผิดอื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนทำไว้ ลักษณะของการกระทำความผิดจึงเป็นไปโดยอุกอาจไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมทารุณไร้มนุษยธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยจะมีเหตุบรรเทาโทษตามที่กล่าวอ้างในฎีกาเพียงใด ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะสมควรใช้ดุลพินิจลดโทษให้แก่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษประหารชีวิตจำเลยโดยไม่ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ย่อมเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 289, 339, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 12, 13, 18, 62, 81 และริบของกลางทั้งหมด แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบของกลางดังกล่าวหรือไม่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองยังไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และการริบทรัพย์สินของกลางนี้ไม่เป็นการเพิ่มโทษจำเลย จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด มีไว้และพาไปเป็นความผิด จึงให้ริบ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบของกลางทั้งหมด เว้นแต่อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายให้คืนเจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6