แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.อ. มาตรา 91 (2) เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกิน 20 ปี นั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 หรือคดีที่เกี่ยวพันกันหรือควรจะมีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่โจทก์ได้แยกฟ้องเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน หรือเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 25 จึงจะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 91 (2) แต่การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้กับคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นับโทษต่อทั้ง 15 คดีนั้น ไม่เกี่ยวพันกันจนอาจจะฟ้องรวมกันเป็นคดีเดียวกันได้หรือจะรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา 22 แล้วมีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินกว่า 20 ปี ก็ย่อมพิพากษาให้บังคับเช่นนี้ได้ กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (2)
ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 91 (2) หมายถึงโทษจำคุกสุทธิภายหลังจากมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษทุกกระทงความผิดรวมกันทั้งสิ้นแล้วไม่เกินกำหนด 20 ปี คดีนี้โทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นวางไว้สำหรับทุกกระทงความผิดเมื่อรวมกันแล้วจะมีกำหนด 21 ปี เมื่อลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว โทษจำคุกสุทธิจะมีกำหนดเพียง 10 ปี 6 เดือน ไม่เกิน 20 ปี จึงไม่จำต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) แต่ศาลชั้นต้นได้ปรับบท ป.อ. มาตรา 91 (2) เสียก่อนและให้จำคุกจำเลยเพียง 20 ปี แล้วจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน โดยมิได้วินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองสำหรับปัญหานี้จึงไม่ชอบและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยไม่แก้โทษที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาเพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 264, 265, 268, 334, 335, 352 และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 515/2543, 525/2543, 1104/2543, 1703/2543, 274/2544, 573/2544, 885/2544, 919/2544, 1049/2544, 1266/2544, 1267/2544, 1349/2544, 1407/2544, 1455/2544, 1461/2544 ของศาลชั้นต้น และคืนเงินจำนวน 473,532.51 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 กับคืนหรือใช้เงินจำนวน 15 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และริบสมุดคู่ฝากของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก, 335 (1) (ที่ถูก มาตรา 335 (11)) วรรคแรก, 352 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง จำคุก 1 ปี ฐานยักยอกทรัพย์และปลอมเอกสารสิทธิเป็นความผิดกรรมเดียวกันให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ใช้และปลอมเอกสารสิทธินั้นเอง จึงลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265) จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 14 ปี ฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265) จำคุก 2 ปี และฐานปลอมเอกสารสิทธิจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี รวมโทษทั้ง 11 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 473,532.51 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 กับใช้เงินจำนวน 15 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ริบสมุดคู่ฝากของกลาง และให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 515/2543, 525/2543, 1104/2543, 1703/2543, 274/2544, 573/2544, 885/2544, 919/2544, 1049/2544, 1266/2544, 1267/2544, 1349/2544, 1407/2544, 1455/2544 และ 1461/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การนับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอื่นติดต่อกันเกิน 20 ปี ได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ที่บัญญัติว่า ” เมื่อปรากฏว่า ผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี” เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกิน 20 ปี นั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 หรือคดีที่เกี่ยวพันกันหรือควรจะมีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่โจทก์ได้แยกฟ้องเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน หรือเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 25 จึงจะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) แต่การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้กับคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นับโทษต่อทั้ง 15 คดี นั้น แม้จะมีผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้เสียหายทุกคดี และมีนางเล็ก แซ่หงอ เป็นผู้เสียหายร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1049/2544 กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1349/2544 ทั้งสองคดีก็ตาม แต่บุคคลที่เป็นผู้เสียหายร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ในคดีอื่นล้วนเป็นผู้เสียหายต่างคนกัน และการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคดีล้วนต่างวันเวลากัน และการกระทำความผิดมิได้เกี่ยวพันกันโดยเฉพาะเอกสารที่ใช้กระทำความผิดแต่ละคดีมิได้เกี่ยวกัน ฉะนั้นพยานหลักฐานแต่ละคดีจึงเป็นคนละส่วนมิได้เกี่ยวกันแต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยจึงไม่เกี่ยวพันกันจนอาจจะฟ้องรวมกันเป็นคดีเดียวกันได้หรือจะรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 แล้ว มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินกว่า 20 ปี ก็ย่อมพิพากษาให้บังคับเช่นนี้ได้ กรณีเช่นนี้หาได้อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) หมายถึงโทษจำคุกสุทธิภายหลังจากมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษทุกกระทงความผิดรวมกันทั้งสิ้นแล้วไม่เกินกำหนด 20 ปี คดีนี้โทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นวางไว้สำหรับทุกกระทงความผิดเมื่อรวมกันแล้วจะมีกำหนด 21 ปี เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว โทษจำคุกสุทธิจะมีกำหนดเพียง 10 ปี 6 เดือน ไม่เกิน 20 ปี จึงไม่จำต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) แต่ศาลชั้นต้นได้ปรับบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) เสียก่อน และให้จำคุกจำเลยเพียง 20 ปี แล้วจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนโดยมิได้วินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองสำหรับปัญหานี้จึงไม่ชอบและด้วยเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยไม่แก้โทษที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาเพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212″
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8