คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อสร้างอาคารตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 22 ชั้น ใต้ดิน 1 ชั้น ซึ่งอยู่ติดกับอาคารพิพาทของโจทก์และตาม สัญญารับจ้างเหมางานการก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าการก่อสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3จะต้องกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับในสัญญา ดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างการก่อสร้างจำเลยที่ 1 ได้ไปควบคุมดูแลการก่อสร้าง ตลอดเวลาและมีข้อสัญญาให้จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาได้หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1เช่นนี้ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 428 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของอาคาร เลขที่ 31/3 ซอยพร้อมใจ ถนนสุขุมวิท 39 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อประมาณกลางปี 2537 จำเลยที่ 1 ได้จ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งอยู่ติดกับด้านหลังอาคารของโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำการขุดดินเพื่อทำชั้นใต้ดินตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บริเวณอาคารของโจทก์เกิดความเสียหาย อาคารทรุดตัวลงจากระดับเดิม ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 เลิกสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 2 และตกลงจ้างจำเลยที่ 3 เข้าดำเนินการก่อสร้างแทนจำเลยที่ 3 ทำการตอกหรือเจาะเสาเข็มเพื่อทำฐานรากของอาคาร ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างแรง เป็นเหตุให้อาคารของโจทก์เสียหาย ฝาผนังแตกร้าว ท่อระบายน้ำอุดตัน ขอบหน้าต่างกระจกแตกร้าว กระเบื้องหลังคาแตก พื้นอาคารแตกร้าว ต่อมาจำเลยที่ 3 ตกลงจะดำเนินการแก้ไขให้ แต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ70,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2ก่อสร้างอาคาร ต่อมาจำเลยที่ 2 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาและว่าจ้างจำเลยที่ 3 ก่อสร้างต่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อบุคคลภายนอก โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือคำสั่งที่ตนให้ไว้แต่ประการใด ในบันทึกที่จำเลยที่ 3 ตกลงกับโจทก์ซ่อมแซมแก้ไขให้นั้นยังมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 สงวนสิทธิไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายโจทก์ไม่เกินจำนวน 200,000 บาท
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2539เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าเช่าเดือนละ 70,000 บาท นับแต่เดือนตุลาคม 2538 เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2539เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าเช่าจำนวน 560,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นเจ้าของอาคารพิพาทซึ่งอยู่ติดกับอาคารตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 22 ชั้น ใต้ดิน 1 ชั้น ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อสร้างอาคารดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการแรกว่าการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าตามคำให้การของจำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คงอ้างเพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ว่าจ้างย่อมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อให้เกิดขึ้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนได้ให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง ส่วนจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้อ้างตนเองเป็นพยานในชั้นพิจารณา จึงมิอาจหักล้างพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารของโจทก์ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 2รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 ได้ความจากคำเบิกความของนายอุดม ศรีชวาลากรรมการของจำเลยที่ 1 และนายนิติ จันทพลาบูรณ์ ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 พยานจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เลือกจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ในระหว่างการก่อสร้างนายอุดมได้ไปสังเกตการณ์ทุกวัน ซึ่งตามสัญญารับจ้างเหมางานการก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย ล.2 ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าการก่อสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับในสัญญาดังกล่าวซึ่งหากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ได้ไปควบคุมดูแลการก่อสร้างตลอดเวลา และมีข้อสัญญาที่ให้จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาได้หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 428 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 4 ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายเนื่องจากการก่อสร้าง เพราะผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดนั้น ปรากฏว่าปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ในฐานละเมิดและรับสภาพหนี้ด้วย ซึ่งได้ความจากการนำสืบของโจทก์ว่า เมื่ออาคารของโจทก์ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงกันระหว่างโจทก์กับตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่ออาคารของโจทก์ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งจำเลยที่ 3 มิได้นำสืบพยานหักล้างในข้อนี้ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจริงอันเป็นรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่ออาคารของโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการเช่าจำนวน 480,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share