คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 455/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายเกิดวันที่ 17ตุลาคม 2521 ตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน แต่นาง ท.มารดาผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าขณะที่ผู้เสียหายเกิดนั้นตนยังไม่ได้ไปแจ้งเกิดในทันทีแต่ไปแจ้งเกิดเมื่อผู้เสียหายมีอายุ 9 เดือน วันเดือนปีเกิดที่ระบุในสูติบัตรเป็นวันที่ไปแจ้งเกิดผู้เสียหาย มิใช่วันเกิดที่แท้จริง เมื่อวันเกิดของผู้เสียหาย ไม่มีใครทราบได้ดีกว่ามารดาผู้เสียหายเพราะเป็นผู้ อุ้มท้องและคลอดผู้เสียหายเอง ย่อมต้องจดจำวันได้อย่างแม่นยำ คำเบิกความของนาง ท. จึงน่าเชื่อถือขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุตามสูติบัตร 14 ปี 6 เดือน เมื่อรวมอีก 9 เดือนด้วยแล้วขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุที่แท้จริง 15 ปีเศษแล้ว อายุของผู้เสียหายนั้นต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายขณะมีอายุเกินกว่า 15 ปีแล้ว มิใช่ 14 ปีเศษตามฟ้องการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ส. ผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำจับตัวและขู่เข็ญผู้เสียหายว่าหากขัดขืนจะฆ่าแล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 ปีจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ข้อเท็จจริงคงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายเท่านั้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายมีอายุเท่าใด ผู้เสียหายเบิกความว่าผู้เสียหายเกิดวันที่ 17 ตุลาคม 2521 ตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านหมาย จ.2 และ จ.3 แต่นางเทียม บุญพวงมารดาผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าขณะที่ผู้เสียหายเกิดนั้นนางเทียมไม่ได้ไปแจ้งเกิดในทันทีแต่ได้ไปแจ้งเกิดเมื่อผู้เสียหายมีอายุ 9 เดือน วันเดือนปีเกิดที่ระบุในสูติบัตรเอกสารหมาย จ.2 เป็นวันที่พยานไปแจ้งเกิดผู้เสียหาย มิใช่วันเกิดที่แท้จริง เหตุที่แจ้งอย่างนั้นเพราะกลัวจะเสียค่าปรับ เห็นว่า ในเรื่องวันเกิดของผู้เสียหายนี้ไม่มีใครทราบได้ดีกว่ามารดาผู้เสียหายเพราะเป็นผู้อุ้มท้องและคลอดผู้เสียหายเอง ย่อมต้องจดจำวันได้อย่างแม่นยำเมื่อพิจารณาจากคำเบิกความของนางเทียมทั้งหมดแล้วไม่มีส่วนใดเป็นพิรุธเพื่อช่วยเหลือจำเลย หากนางเทียมจะเบิกความช่วยเหลือจำเลยแล้วก็น่าจะช่วยเหลือจำเลยมากยิ่งไปกว่านี้ ดังนั้น คำเบิกความของนางเทียมจึงน่าเชื่อถือ และฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุตามสูติบัตร 14 ปี 6 เดือน เมื่อรวมอีก 9 เดือนด้วยแล้วขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุที่แท้จริง 15 ปีเศษแล้วอายุของผู้เสียหายนั้นต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายขณะมีอายุเกินกว่า 15 ปีแล้วมิใช่ 14 ปีเศษตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share