คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3971/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างว่าจำเลยสั่งให้สมาชิกของโจทก์หมุนเวียนหยุดงานเป็นช่วง ๆ โดยอ้างเหตุจำเป็นเนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และจ่ายค่าจ้างให้สมาชิกของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยระหว่างหยุดงานเพียงร้อยละห้าสิบของอัตราค่าจ้างปกติ การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 เป็นการผิดสัญญาจ้างและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยสมาชิกของโจทก์และโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วยขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบแก่สมาชิกของโจทก์ เป็นกรณีที่สมาชิกของโจทก์แต่ละคนมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะได้รับหรือจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541และตามสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของสมาชิกของโจทก์โดยตรงซึ่งหากสมาชิกของโจทก์คนใดประสงค์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายและสัญญาจ้างแรงงานสมาชิกของโจทก์คนนั้น ก็จะต้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 36
สมาชิกของโจทก์มิได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างและมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีแทน แต่โจทก์ในฐานะสหภาพแรงงานเป็นผู้ฟ้องจำเลยโดยมิได้มีข้อโต้แย้งใด ๆ เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8และมาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสหภาพแรงงาน สมาชิกของโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต มีวันทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ สมาชิกที่เป็นลูกจ้างรายวันมีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 3 และวันที่ 18 ของเดือนส่วนที่เป็นลูกจ้างรายเดือนจ่ายทุกวันสิ้นเดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2541 จนถึงปัจจุบันจำเลยมีคำสั่งให้สมาชิกของโจทก์บางส่วนหมุนเวียนหยุดงานเป็นช่วง ๆ โดยอ้างว่ามีเหตุจำเป็นเนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าน้อยลง กระบวนการผลิตไม่ต่อเนื่อง และจ่ายค่าจ้างให้สมาชิกของโจทก์ระหว่างหยุดงานเพียงร้อยละห้าสิบของอัตราค่าจ้างปกติ เหตุที่จำเลยอ้างดังกล่าวมิใช่เหตุจำเป็นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 เพราะเป็นเหตุที่กว้างใหญ่ไพศาลและเป็นภาวะทั่วไปของการผลิตไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้นหรือเป็นการชั่วคราว เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อบีบบังคับสมาชิกของโจทก์ทางอ้อมไม่ให้สามารถทนทำงานต่อไปได้การกระทำของจำเลยเป็นกรณีฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 75 เป็นการผิดสัญญาจ้างและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยสมาชิกของโจทก์และโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กรรมการโจทก์บางคนเคยนำเรื่องดังกล่าวแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งที่ 7/2542 ลงวันที่ 19 เมษายน 2542 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข่ายตามมาตรา 75 และไม่สอดคล้องกับคำชี้แจงของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจึงสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างอีกร้อยละห้าสิบแก่ลูกจ้างของจำเลย จำเลยไม่ได้ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานแต่อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในทางปกครอง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบแก่สมาชิกของโจทก์ทุกคนตามบัญชีรายละเอียดท้ายฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี คำนวณจากยอดค่าจ้างของสมาชิกของโจทก์แต่ละปี เริ่มคิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีถัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่สมาชิกของโจทก์ หากในระหว่างฟ้องจำเลยยังคงสั่งหยุดงานจ่ายค่าจ้างเพียงร้อยละห้าสิบก็ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่สมาชิกของโจทก์ที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือชำระเสร็จ กับให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรสาครที่ 7/2542 ลงวันที่ 19เมษายน 2542

จำเลยให้การว่า ที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติให้โจทก์ฟ้องคดีแทนสมาชิกของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2542 เมื่อมีการประชุมใหญ่ในวันที่ 2 พฤษภาคม2543 โจทก์ไม่ได้ขอมติที่ประชุมใหญ่ให้ฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยอีกครั้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่สมาชิกของโจทก์ตามรายชื่อและจำนวนเงินดังที่ปรากฏในบัญชีเอกสารหมาย ล.19 ท้ายคำพิพากษากับให้รับผิดเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยคิดนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีถัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาซึ่งสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเบื้องแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างว่า จำเลยสั่งให้สมาชิกของโจทก์หมุนเวียนหยุดงานเป็นช่วง ๆ โดยอ้างเหตุจำเป็นเนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และจ่ายค่าจ้างให้สมาชิกของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยระหว่างหยุดงานเพียงร้อยละห้าสิบของอัตราค่าจ้างปกติการกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 75 เป็นการผิดสัญญาจ้างและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยสมาชิกของโจทก์และโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบแก่สมาชิกของโจทก์ เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพแห่งข้ออ้าง ข้อหา และคำขอบังคับในคำฟ้องดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่สมาชิกของโจทก์แต่ละคนมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะได้รับหรือจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และตามสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของสมาชิกของโจทก์โดยตรง ซึ่งหากสมาชิกของโจทก์คนใดประสงค์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายและสัญญาจ้างแรงงานดังเช่นคดีนี้ สมาชิกของโจทก์คนนั้น ก็จะต้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาล โดยจะดำเนินคดีด้วยตนเอง หรือจะแต่งตั้งผู้แทนหรือทนายความเพื่อดำเนินคดีแทนหรือจะมอบอำนาจให้สภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีแทนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 36 ก็ได้ คดีนี้สมาชิกของโจทก์มิได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยและมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีแทน แต่โจทก์ในฐานะสหภาพแรงงานเป็นผู้ฟ้องจำเลยโดยมิได้มีข้อโต้แย้งใด ๆ เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งกับจำเลยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 8 และมาตรา 31 ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31เมื่อวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามที่จำเลยอุทธรณ์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share