คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1213/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมมานานหลายปี แต่ไม่สามารถชำระเงินคืนให้โจทก์ร่วมได้ต้องออกเช็คใหม่มอบให้โจทก์ร่วมโดยบวกดอกเบี้ยเพิ่มและรับเช็คเดิมคืนมาหลายครั้งครั้งหลังสุดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมและจำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมหนี้กันที่สถานีตำรวจ และจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว อันเป็นการบ่งชัดว่าจำเลยอยู่ในภาวะที่ถูกโจทก์ร่วมบีบบังคับให้ต้องออกเช็คพิพาท ซึ่งโจทก์ร่วมย่อมทราบดีว่าขณะออกเช็คจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนวิภาวดีรังสิต (ดอนเมือง) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 2,323,581บาท ให้แก่นางกัลยกร กอจรัญจิตต์ ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินให้เหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคารจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้ได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2)

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางกัลยกร กอจรัญจิตต์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2) จำคุก 10 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืม แต่ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้ามอบให้โจทก์ร่วมไว้เมื่อเช็คถึงกำหนด จำเลยก็ขอผัดชำระหนี้โดยออกเช็คฉบับใหม่ให้โจทก์ร่วมเปลี่ยนกับเช็คฉบับเดิมหลายครั้งจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2540 โจทก์ร่วมและจำเลยไปพบเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์เนื่องจากเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายมอบให้โจทก์ร่วมไว้ 2 ฉบับตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.3 ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงมีการทำบันทึกตกลงประนีประนอมหนี้โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องเอกสารหมาย จ.2 ชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมคืนเช็คเอกสารหมาย ล.1 และล.3 ให้จำเลยตามบันทึกตกลงประนีประนอมหนี้เอกสารหมาย จ.1 เมื่อเช็คตามฟ้องถึงกำหนดโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมมาเบิกความว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2537 จำเลยมาขอกู้ยืมเงินโจทก์ร่วม 1,000,000 บาท ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมแต่สั่งจ่ายเช็คไว้เป็นประกัน สัญญาว่าจะใช้คืนต้นปี 2538 แต่ไม่ได้ใช้นับถึงปัจจุบันจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามเช็ค 2 ฉบับ เป็นเงินฉบับละ 1,000,000 บาทเศษ ต่อมาเช็ค 2 ฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ร่วมและจำเลยจึงทำบันทึกตกลงประนีประนอมหนี้กันตามเอกสารหมาย จ.1 ที่สถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ในวันดังกล่าว จำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องเอกสารหมาย จ.2ให้โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ตามบันทึกตกลง เห็นว่า ตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมข้างต้นบ่งชัดว่า โจทก์ร่วมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีเงินในบัญชีที่จะจ่ายตามเช็คในขณะออกเช็คเอกสารหมาย จ.2 เพราะโจทก์ร่วมได้นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายตามเอกสารหมายล.1 และ ล.3 ไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 27กุมภาพันธ์ 2540 ก่อนวันที่จำเลยออกเช็คเอกสารหมาย จ.2 ให้โจทก์ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น และเช็คตามเอกสารหมาย ล.3 กับเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 ก็เป็นเช็คในบัญชีเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้ความจากนางสาวเพ็ญศรี เตชะเกิดกมล พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายอีกว่าในวันที่ 26 มีนาคม2540 จำเลยเป็นหนี้ธนาคารอยู่จำนวน 2,000,000 บาทเศษ ตามเอกสารบัญชีกระแสรายวันหมาย จ.7 เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมมาตั้งแต่ปี 2537 แต่ไม่สามารถชำระเงินคืนให้โจทก์ร่วมได้ ต้องออกเช็คใหม่มอบให้โจทก์ร่วมโดยบวกดอกเบี้ยเพิ่มและรับเช็คเดิมคืนมาหลายครั้ง ตลอดจนการที่โจทก์ร่วมและจำเลยต้องไปทำบันทึกตกลงประนีประนอมหนี้กันตามเอกสารหมาย จ.1 ที่สถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้บันทึกให้ดังกล่าวประกอบกันแล้ว เชื่อว่าจำเลยอยู่ในภาวะที่ถูกโจทก์ร่วมบีบบังคับให้ต้องออกเช็คเอกสารหมายจ.2 ตามฟ้อง โดยโจทก์ร่วมทราบดีแล้วว่าขณะออกเช็คจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนทั้งสิ้นจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share