คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย ตำแหน่งพนักงานธนากรมีหน้าที่รับฝากและถอนเงินให้ลูกค้า แต่เงินที่ลูกค้านำฝากเข้าบัญชีของลูกค้าไว้กับผู้เสียหายเป็นของผู้เสียหายและอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย มิได้อยู่ในความครอบครองของจำเลย การที่จำเลยใช้ใบถอนเงินหรือแก้ไขบัญชีเงินฝากของลูกค้าผู้ฝากต่างกรรมต่างวาระในรูปแบบทางเอกสารเป็นกลวิธีในการถอนเงินของผู้เสียหายจนเป็นผลสำเร็จแล้วทุจริตนำเงินนั้นไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์มิใช่ยักยอก
จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษน้อยลงและรอการลงโทษ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเนื่องจากเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาด้วยว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษแก่จำเลยนั้นเหมาะสมหรือไม่เพียงใด และมีเหตุรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำเลยลักเงินของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายสาขาบางเขน ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต ในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยได้ทำเอกสารสิทธิปลอมโดยนำใบฝากเงินและใบถอนเงินมากรอกข้อความลงลายมือชื่อเจ้าของบัญชีและผู้รับเงินเป็นเจ้าของบัญชีปลอมแล้วจำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายสงวน เดชประดิษฐ์นายนาม บุตรรักษ์ นางบุหงา ยังนึก นางมณฑา รูปขจร และพลตรีมนูญรูปขจร เอาเป็นของตนโดยทุจริต อันเป็นการกรอกข้อความและลงลายมือชื่ออันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับที่แท้จริง ซึ่งความจริงแล้วบุคคลที่มีชื่อดังกล่าวไม่ได้เบิกถอนหรือรับเงินไปจากผู้เสียหายและไม่ได้ทำเอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวขึ้นตามรายละเอียดที่กรอกข้อความปลอมไว้ อีกทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ถอนเงินและผู้รับเงินแต่อย่างใดและจำเลยใช้เอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวอ้างแสดงต่อผู้เสียหายเพื่อให้หลงเชื่อโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลที่มีชื่อดังกล่าว ผู้เสียหาย ผู้อื่น และประชาชน โดยได้กระทำรวม 11 ครั้ง รวมเป็นเงินที่จำเลยลักไปทั้งสิ้น 3,114,158.35 บาท ซึ่งผู้เสียหายได้ให้ชดใช้ให้แก่เจ้าของบัญชีไปเป็นเงิน 2,374,428.29 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 335, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 2,374,428.29 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 (ที่ถูกมาตรา 265, 268วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งต้องวางโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง), 335(11) วรรคแรก รวม 11 กระทง การกระทำของจำเลยในแต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 3 ปี เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แล้วรวมจำคุก 33 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้จำคุกเพียง 20 ปี (ที่ถูกลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 22 ปี แต่รวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกได้เพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2)) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 2,374,428.29 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก ในกระทงความผิดที่ 1 ถึงที่ 8 และกระทงที่ 11 และมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรกในกระทงความผิดที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 และกระทงที่ 9 จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมเอง ต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมในกระทงความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง แต่ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมในกระทงความผิดที่ 4 และกระทงที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์ในกระทงเดียวกันให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1) วรรคแรก อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เรียงกระทงลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์กระทงที่ 1 ถึงที่ 8 และกระทงที่ 11 และความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมในความผิดกระทงที่ 9 จำคุกกระทงละ 3 ปี คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเฉพาะกระทงความผิดที่ 8 มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แต่ให้ลงโทษจำคุกตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 20 ปี ให้ยกฟ้องสำหรับกระทงความผิดที่ 10 ส่วนกระทงความผิดที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และกระทงที่ 11 ให้ยกฟ้องเฉพาะข้อหาความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม สำหรับความผิดกระทงความผิดที่ 9 ให้ยกฟ้องเฉพาะข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยเฉพาะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับมาว่า การกระทำของจำเลยในกระทงที่ 1 ถึงที่ 8 และกระทงที่ 11 เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือเป็นความผิดฐานยักยอก ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นพนักงานของผู้เสียหาย ตำแหน่งพนักงานธนากรมีหน้าที่รับฝากและถอนเงินให้ลูกค้า จำเลยได้ทุจริตใช้ใบถอนเงินที่ไม่มีชื่อลูกค้าในบัญชี หรือบางครั้งใช้ใบถอนเงินที่เป็นเท็จถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าที่มีอยู่จริง หรือบางครั้งแก้ไขบัญชีเงินฝากของลูกค้าว่าลูกค้าได้ถอนเงินจากบัญชีทั้งหมด โดยได้นำเงินส่วนหนึ่งฝากกลับเข้าในบัญชีเดิมโดยไม่ครบจำนวน แล้วนำเงินส่วนที่เหลือไปเป็นของจำเลย โดยยังคงมีตัวเลขเงินฝากครบจำนวนในสมุดเงินฝากแล้วนำเงินของผู้เสียหายตามใบถอน หรือที่ได้แก้ไขบัญชีเงินฝากที่กล่าวมาไปเข้าบัญชีหรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนายยุทธการ รูปขจร แล้วนายยุทธการได้ถอนเงินที่จำเลยนำเข้าบัญชีออกไปโดยทุจริตรวม 9 ครั้ง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะมีหน้าที่รับฝากเงินและถอนเงินให้ลูกค้าของผู้เสียหายดังที่กล่าวมา แต่เงินที่จำเลยทุจริตเอาไปนั้นล้วนแต่เป็นเงินที่ลูกค้าได้นำฝากเข้าบัญชีของลูกค้าไว้กับผู้เสียหายทั้งสิ้น เงินฝากดังกล่าวจึงเป็นของผู้เสียหายและอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย มิได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยและจำเลยใช้ใบถอนเงินหรือแก้ไขบัญชีเงินฝากของลูกค้าผู้ฝากต่างกรรมต่างวาระมาในรูปแบบทางเอกสารเป็นกลวิธีในการถอนเงินของผู้เสียหายจนเป็นผลสำเร็จแล้วทุจริตนำเงินนั้นไป การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์มิใช่ความผิดฐานยักยอกดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ในกระทงที่ 1 ถึงที่ 8 และกระทงที่ 11 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อนึ่ง จำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก จึงเป็นการปรับบทมาตราไม่ถูกต้อง ชอบที่ศาลฎีกาจะปรับบทเสียใหม่

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษน้อยลงและรอการลงโทษนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเนื่องจากเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นในปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาด้วยว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษแก่จำเลยนั้นเหมาะสมหรือไม่เพียงใด และมีเหตุรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกระทำการลักทรัพย์หลายครั้งหลายคราวติดต่อกันตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้นั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทุกกระทงความผิดกระทงละ 2 ปี รวม 20 ปี มานั้น เห็นว่า จำนวนเงินที่จำเลยลักทรัพย์ไปมีมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดอย่างใดมาก่อน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี นั้น จึงหนักเกินไป ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เห็นสมควรลงโทษให้เบากว่านี้ตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก สำหรับกระทงที่ 1 ถึงที่ 8 และกระทงที่ 11 จำคุกกระทงละ 1 ปี และฐานเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมสำหรับกระทงที่ 9 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 1 ปี คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกกระทงละ 8 เดือนรวม 10 กระทง จำคุกจำเลย 80 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share