แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31(1) และ 70 วรรคสองบัญญัติให้ลงโทษจำคุกสามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อภาพยนตร์วีดีโอซีดีแผ่นวีซีดีและแผ่นซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของกลาง ซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้เสียหายและจำเลยนำมาจำหน่ายเพื่อการหากำไรมีจำนวนเพียง 155 แผ่น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 300,000 บาท จึงหนักเกินไปส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ มาตรา 6วรรคหนึ่ง และมาตรา 34 ที่ลงโทษปรับจำเลย 20,000 บาท ก็สูงเกินไปด้วย ไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวัสดุโทรทัศน์ของกลางบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าอันมิได้ประกอบกิจการโดยตั้งเป็นร้านค้าถาวรแต่อย่างใด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ เห็นควรกำหนดโทษในความผิดทั้งสองฐานเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลย
วีดีโอภาพยนตร์ แผ่นวีซีดีและซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของกลาง ซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้เสียหายย่อมตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 จึงไม่ชอบที่จะริบของกลางดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานภาพยนตร์ดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุตามคำฟ้องของบริษัทเว็นตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ฟิล์ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 บริษัทเมโทร โกลด์ดวิน เมเยอร์ พิคเจอร์ส อิงค์จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทม์ วอร์เนอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมปานีผู้เสียหายที่ 3 บริษัทอาร์. เอส. โปรโมชั่น 1992 จำกัด ผู้เสียหายที่ 4 บริษัทแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 5 และบริษัทชัวร์ ออดิโอ จำกัด ผู้เสียหายที่ 6 ซึ่งผู้เสียหายทั้งหกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ ดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุดังกล่าวในฐานะผู้สร้างสรรค์โดยเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทภาพยนตร์ดังกล่าว และผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ดังกล่าวและได้มีการโฆษณางานครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมอันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยโดยการนำภาพยนตร์วีดีโอซีดีที่บันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์ แผ่นวีซีดี และแผ่นซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (เอ็มพี 3) ที่บันทึกเสียงเพลงและหรือภาพการแสดง ซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งหกรวมจำนวน 155 แผ่นออกขายและเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์วีดีโอซีดี แผ่นวีซีดี และแผ่นซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (เอ็มพี 3) ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งหก และจำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดีโอซีดีภาพยนตร์ แผ่นวีซีดี และแผ่นซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (เอ็มพี 3) ซึ่งบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ และบันทึกเสียงเพลงและหรือภาพการแสดงต่าง ๆ อันเป็นวัสดุโทรทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจและได้ประโยชน์ตอบแทนจากราคาจำหน่ายแผ่นวีดีโอซีดีภาพยนต์ แผ่นวีซีดี และแผ่นซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (เอ็มพี 3) อยู่ที่บริเวณลานจอดรถหลังอาคารสำโรงพลาซ่า ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจังหวัดสมุทรปราการ และมิใช่กรณีที่ได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์พ.ศ. 2530 เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดภาพยนตร์วีดีโอซีดี แผ่นวีซีดี และแผ่นซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (เอ็มพี 3) จำนวน 155 แผ่น ดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 31, 61, 70, 75, และ76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 4, 6 และ34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 91 ให้ริบวีดีโอซีดีภาพยนตร์ แผ่นซีดีและแผ่นซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (เอ็มพี 3) จำนวน 155 แผ่น ของกลางตกเป็นของผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (ที่ถูกเป็นมาตรา 31(1))และ 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530มาตรา 6 (ที่ถูกเป็นมาตรา 6 วรรคหนึ่ง) และ 34 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าจำคุก 1 ปี และปรับ 300,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 20,000 บาทรวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 1 ปี และปรับ 320,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 160,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ให้ริบวีดีโอซีดีภาพยนตร์ แผ่นวีซีดี และซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (เอ็มพี 3) ของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน155 แผ่น ตกเป็นของผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 31(1) และ 70 วรรคสองบัญญัติให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแม้จะมีอัตราโทษสูงแต่ของกลางซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและจำเลยนำมาจำหน่ายเพื่อการค้าหากำไรมีจำนวนเพียง 155 แผ่น เท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นจึงหนักเกินไป ไม่เหมาะสม แก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่งและ 34 ก็พิพากษาลงโทษปรับจำเลยสูงเกินไปด้วย ไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวัสดุโทรทัศน์ ของกลางอยู่ที่บริเวณลานจอดรถหลังอาคารสำโรงพลาซ่า มิได้ประกอบกิจการโดยตั้งเป็นร้านค้าถาวรแต่อย่างใด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดโทษสำหรับความผิดคดีทั้งสองฐานดังกล่าวเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ริบวีดีโอซีดีภาพยนตร์ แผ่นวีซีดีและซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (เอ็มพี 3) ของกลางนั้นไม่ชอบ เพราะของกลางดังกล่าวต้องตกเป็นของผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 75 จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 31(1) และ 70 วรรคสอง จำคุก 6 เดือน และปรับ 60,000 บาทความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6วรรคหนึ่ง และ 34 ปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 70,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือนและปรับ 35,000บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามกำหนดเดิม และให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้ริบของกลางให้วีดีโอซีดีภาพยนตร์แผ่นวีซีดี และซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (เอ็มพี 3) ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน155 แผ่น ของกลางตกเป็นของผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง