คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สำนักงานธนานุเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ ดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับธุรกิจของเอกชน ซึ่งอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน
การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างอย่างหนึ่งหาใช่เป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมายไม่ และไม่ใช่เป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอน
การจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน เป็นหน้าที่ซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้าง ต้องปฏิบัติหลักเกณฑ์ในการจ่ายก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้นั้นนายจ้างหามีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยขึ้นเองให้ขัดแย้งกับประกาศดังกล่าวไม่
เงินค่าครองชีพเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของลูกจ้าง แม้จะเป็นการชั่วคราวแต่ก็เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น ค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องนำมาคำนวณค่าชดเชยด้วย

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองสำนวน จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถานธนานุเคราะห์ขึ้นก็เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบความทุกข์ยาก เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากโรงรับจำนำของเอกชน มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ การจ้างโจทก์จึงมิได้อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 492/2517 เรื่อง ข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานสำนักงานธนานุเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์พ.ศ. 2517 (เอกสารหมาย ล.3) ข้อ 5 สำนักงานธนานุเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ มีวัตถุประสงค์ (1) ประกอบกิจการรับจำนำ ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม ซึ่งทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งการถือกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์และ (3) ดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกันหรือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น และตามข้อ 12 (4) คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์มีอำนาจ “กำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าภาระค่าบริการ และค่าดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ” ดังนี้จึงเห็นได้ว่า สำนักงานธนานุเคราะห์ดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับธุรกิจของเอกชน มีการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจแม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบความทุกข์ยากไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากโรงรับจำนำของเอกชนอยู่ด้วยแต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่แสวงหากำไรเสียเลย ดังจะเห็นได้จากข้อ 27 ที่ว่า “รายได้ที่สำนักงานได้รับให้นำไปใช้จ่ายในการดำเนินกิจการตามรายการในงบประมาณประจำปีและตามข้อผูกพันได้” เพราะถ้าไม่มี “กำไร” แล้วจะมี “รายได้” ได้อย่างไร ดังนี้การจ้างโจทก์จึงอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า การออกจากงานของโจทก์เป็นการออกโดยผลของกฎหมาย ไม่ใช่การเลิกจ้าง และการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ซึ่งมีการแก้ไขต่อมานั้น ได้กำหนดคุณสมบัติในขั้นมาตรฐานของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่ามีอย่างไรบ้าง ต้องมีอายุไม่เกินเท่าใดจึงจะไม่ขาดคุณสมบัติ ถ้าเกินแล้วจะต้องพ้นจากตำแหน่งไป ส่วนปัญหาที่ว่า การที่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติในเรื่องอายุ จะเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งให้คำนิยามคำว่า “เลิกจ้าง” ไว้ว่าหมายถึง”การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดตามข้อ 47 ฯลฯ ” เมื่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมิได้ยกเว้นไว้เป็นพิเศษว่าการให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุไม่ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง เพียงแต่การที่รัฐซึ่งเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายกำหนดคุณสมบัติของพนักงานของรัฐวิสาหกิจทั้งปวงให้เป็นระเบียบเดียวกันในรูปของกฎหมายนั้น หามีผลเป็นข้อยกเว้นไปในตัวสำหรับบทนิยามของคำว่า “เลิกจ้าง” ตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยไม่ ดังนั้น การให้ออกจากงานของโจทก์เพราะเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้างอย่างหนึ่ง หาใช่เป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมายไม่ ส่วนปัญหาที่ว่าจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอนหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่กฎหมายดังกล่าวข้างต้นกำหนดว่า เมื่อลูกจ้างมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปนั้นไม่ใช่ข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างว่าจะจ้างกันมีกำหนดเวลาเท่าใด การจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงไม่ใช่การจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอน

จำเลยอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า แม้หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสมทบจะแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชยก็ตาม แต่ตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ว่าด้วยเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. 2519 ข้อ 16 ให้ถือว่าการจ่ายเงินสมทบเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ระเบียบดังกล่าวมิได้ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยจึงมีผลใช้บังคับได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และ 47 นั้น เป็นหน้าที่ซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ในการจ่ายก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้นั้น อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ซึ่งเป็นประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ หามีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยขึ้นเองให้ขัดแย้งกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน อันมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายไม่

จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า ค่าครองชีพไม่ใช่เงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานตามปกติของโจทก์ แต่เป็นเงินที่จ่ายเพิ่มให้แก่พนักงานที่มีรายได้น้อย เป็นการชั่วคราว จึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานโจทก์ไม่มีสิทธินำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า เงินค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานตามปกติของโจทก์ แม้จะเป็นการชั่วคราว แต่ตามเอกสารหมาย ล.5 ข้อ 5 ก็มีข้อความว่าเป็นเรื่องจำเป็นเฉพาะหน้า ซึ่งพึงกระทำจนกว่าจะมีการปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้าง เงินเดือน ของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น แสดงว่า คำว่า “ชั่วคราว” ดังกล่าวนั้นมิได้มีความหมายว่าเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะยกเลิกการจ่ายค่าครองชีพ แต่เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้นค่าครองชีพดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้างส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องนำมาคำนวณค่าชดเชยด้วย”

พิพากษายืน

Share