แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ถ้าต่อไปโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดต่ำลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 ยอมรับที่จะปฏิบัติตามที่โจทก์ได้กำหนดขึ้นใหม่ ดังนั้น เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 คงเป็นหนี้โจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสิทธิตามสัญญาที่โจทก์พึงได้โดยชอบมาแต่เดิม ซึ่งขณะสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกัน โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี จึงชอบแล้ว และข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ใช่เบี้ยปรับ แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราดังกล่าวลักษณะคงที่ตลอดไปนั้นไม่ชอบ เพราะตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในลักษณะดอกเบี้ยอัตราลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามประกาศโจทก์ จึงให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นอัตราลอยตัวในอัตราเอ็มโออาร์ (อัตราตามประกาศโจทก์เมื่อเทียบกับใบคำนวณยอดหนี้) ตามประกาศโจทก์ แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาในปัญหานี้โดยตรง แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 3,379,107.58 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงิน 2,122,445.43 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,799,532.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2537 ในอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2537 ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2538 ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 ในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2538 ในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2538 ในอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2538 ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2538 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2538 ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2538 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2538 ในอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2538 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2539 และในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงิน 100,000 บาท ไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,799,532.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยได้นำเงิน (ที่ถูก ให้นำเงิน) 100,000 บาท ไปหักชำระหนี้ในวันที่ 21 กันยายน 2538 ออกด้วย ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์จนกระทั่งวันที่ 30 กันยายน 2537 สัญญาบัญชีเดินสะพัดได้สิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 1,799,532.11 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเมื่อสัญญาเลิกกันแล้วหรือไม่ และดอกเบี้ยตามสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ข้อ 3 ระบุว่าจำเลยที่ 1 ผู้เบิกเงินเกินบัญชีตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่จะประกาศกำหนด ถ้าต่อไปโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลงเป็นประการใด จำเลยที่ 1 ยอมรับที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามที่โจทก์ได้กำหนดขึ้นใหม่ ดังนั้น เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่โจทก์พึงได้โดยชอบมาแต่เดิม ซึ่งในขณะสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันนั้น โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจึงชอบแล้ว และข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ใช่เบี้ยปรับแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราดังกล่าวลักษณะคงที่ตลอดไปนั้นไม่ชอบ เพราะตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในลักษณะดอกเบี้ยอัตราลอยตัว สามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงได้ตามประกาศโจทก์ จึงให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในอัตราเอ็มโออาร์ ตามประกาศโจทก์ แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาในปัญหานี้โดยตรง แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองชำระในอัตราเอ็มโออาร์ ตามประกาศโจทก์เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไป โดยให้ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศฉบับต่าง ๆ ของโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลา แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 11.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ