คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8391/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 ซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาว่า จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 เวลากลางวันแต่จำเลยมิได้นำสืบต่อสู้เกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยไปแจ้งความแสดงว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น มิได้เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม
จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทของจำเลย โดยจำเลยได้นำ น.ส.3 ก. ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองมาแสดง น.ส.3 ก. ดังกล่าวระบุว่าจำเลยได้รับโอนมาทางมรดกตามพินัยกรรม จึงเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในทำนองเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นซึ่งมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของบิดา และโจทก์ได้บุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินของจำเลยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลย จำเลยก็ให้การรับว่าที่ดินของจำเลยดังกล่าวยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องทางแพ่งโต้เถียงกรรมสิทธิ์กันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลยพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาแกล้งเอาความเท็จไปกล่าวหาโจทก์ ส่วนฝ่ายใดจะมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากันเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไปการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท โจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เดิมที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2315 ตำบลหนองผืออำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีชื่อนายอินทร์หรืออิน บุษดี บิดาโจทก์และจำเลยเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองและนายอินทร์กับโจทก์ได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินดังกล่าว ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์2537 นายอินทร์ได้ไปทำพินัยกรรมต่อกรมการอำเภอเขาวงขอยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียวตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองเอกสารหมาย ล.3 และนายอินทร์ได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2538 หลังจากนายอินทร์ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยได้ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนตามพินัยกรรมดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2538 ตามสารบัญจดทะเบียนท้ายหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.3 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยได้ให้บุตรชายของจำเลยเข้าไปไถที่ดินพิพาทเพื่อปลูกข้าวแต่โจทก์ได้เข้าไปไถทับและหว่านข้าวในที่ดินพิพาทรวมทั้งทำรั้วล้อมรอบ วันเกิดเหตุคดีนี้คือวันที่ 19 มิถุนายน 2539 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา จำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาวงให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ในข้อหาฐานบุกรุก ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 เจ้าพนักงานตำรวจได้ไปจับกุมโจทก์มาดำเนินคดี และพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีดังกล่าว แต่พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 ซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาว่า จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์บุกรุกที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 เวลากลางวัน แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลา มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไป เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้แต่ตามทางพิจารณาจำเลยเบิกความรับว่า จำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทของจำเลยโดยมิได้นำสืบต่อสู้เกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยไปแจ้งความแสดงว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น มิได้เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ ดังนั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า การที่จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์บุกรุกที่ดินพิพาท เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งแจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ โดยแกล้งกล่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาให้ผิดไปจากความจริงคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากร้อยตำรวจเอกมงคล ปัทมารัง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาวง พยานโจทก์ว่า วันเกิดเหตุจำเลยได้ไปแจ้งความต่อพยานว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทของจำเลยโดยจำเลยได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.3ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองมาแสดงโดยหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าว ระบุว่าจำเลยได้รับโอนที่ดินมาทางมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งความในข้อนี้โจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยรับว่าที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.3 จำเลยได้รับโอนมรดกโดยอาศัยพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองเอกสารหมาย ล.3 จริง และต่อมาจำเลยได้นำที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.3 ไปขอออกโฉนดที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 โดยโจทก์ไม่เคยไปคัดค้าน และโจทก์ยังได้เบิกความรับอีกว่า โจทก์ได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทจริงโดยโจทก์อ้างว่านายอินทร์เจ้ามรดกได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ก่อนถึงแก่ความตาย การที่จำเลยไปแจ้งความดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาฐานบุกรุกจึงเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในทำนองเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของบิดา และโจทก์ได้บุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินของจำเลยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ยังปรากฏว่า เมื่อพนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลย จำเลยก็ให้การรับว่าที่ดินของจำเลยดังกล่าวยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องทางแพ่ง โต้เถียงกรรมสิทธิ์กันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลย ตามสำเนาบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.5 พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวมานี้ จึงแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาแกล้งเอาความเท็จไปกล่าวหาโจทก์ ส่วนฝ่ายใดจะมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากันเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share