คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้นำโครงเหล็กที่จำเลยวางขายสินค้าออกไปจากทางพิพาทโดยอ้างว่าทางพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยให้การยอมรับว่าทางพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ ไม่ได้ยืนยันว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ เพียงแต่ให้การว่าทางพิพาทเป็นเสมือนทางสาธารณะ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยนำโครงเหล็กของจำเลยออกไปจากทางพิพาทเท่านั้นมิได้ห้ามจำเลยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ จึงถือว่าจำเลยมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิเรื่องการใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ให้โจทก์จดทะเบียนภารจำยอมพื้นที่พิพาทให้เป็นที่วางสินค้าของจำเลย จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องแย้งในส่วนนี้
ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเรียกว่าสามยทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของอาคารตึกแถวซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่อยู่ติดทางพิพาท แต่การที่จำเลยใช้ทางพิพาทวางสินค้าเพื่อจำหน่ายในกิจการค้าของจำเลยเป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยโดยเฉพาะมิได้เกี่ยวกับประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของ ดังนั้น ภารจำยอมจึงไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ จำเลยไม่ได้ภารจำยอมในทางพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยนำโครงเหล็กออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 21185 และ 1328 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 6,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะนำโครงเหล็กออกไปจากที่ดินโจทก์ทั้งสอง

จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และมีคำสั่งห้ามโจทก์ทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องกับจำเลยในการใช้ซอยชูพินิจ 2 เป็นทางเข้าออกและใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งตลอดแนวตึกแถวของจำเลยและจดทะเบียนภารจำยอมให้พื้นที่บนซอยชูพินิจ 2 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 21185 และ 1328 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ตกเป็นทางเข้าออกและจดทะเบียนภารจำยอมพื้นที่ดังกล่าวส่วนหนึ่งขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 10 เมตร ตลอดแนวด้านข้างอาคารพาณิชย์เลขที่ 221 ให้เป็นที่วางสินค้าของจำเลยเพื่อจำหน่าย หากโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง และยกฟ้องแย้งจำเลย

โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยนำโครงเหล็กออกจากซอยชูพินิจ 2 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 21185 และ 1328 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 825 บาท นับแต่วันฟ้อง (11 กรกฎาคม 2540) จนกว่าจำเลยจะนำโครงเหล็กออกจากซอยชูพินิจ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1328 และ 21185 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โจทก์ทั้งสองสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองดังกล่าว โดยมีถนนอยู่ระหว่างกลางอาคารพาณิชย์ที่สร้างและให้ชื่อว่าซอยชูพินิจ 2 ซึ่งเป็นทางพิพาท จำเลยเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์เลขที่ 221 ถนนวิจิตรตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ด้านหน้าอาคารของจำเลยอยู่ตรงข้ามกับตลาดเทศบาล ด้านข้างที่อยู่ติดซอยชูพินิจ 2 ซึ่งเป็นทางพิพาทเป็นประตูเหล็กยืดยาวประมาณ 8 เมตร ทางพิพาทเป็นทางที่ประชาชนใช้เข้าออกระหว่างตลาดเทศบาลกับตลาดสดศูนย์การค้าของโจทก์ทั้งสอง จำเลยอยู่ในอาคารเลขที่ 221ตั้งแต่ปี 2525 โดยอาศัยสิทธิการเช่าช่วงจากผู้อื่นและประกอบกิจการค้าขายเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มมาตลอดโดยวางสินค้าที่จำหน่ายบางส่วนในอาคารและบางส่วนนอกอาคารบริเวณทางพิพาท โดยวางห่างจากอาคารร้านค้าของจำเลยประมาณ 1 เมตรไปตามแนวยาวของทางพิพาทประมาณ 10 เมตร จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารเลขที่ 221 เมื่อปี 2539 ที่จำเลยฎีกาว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยให้นำโครงเหล็กที่จำเลยวางขายสินค้าออกไปจากทางพิพาทโดยอ้างว่าทางพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การยอมรับว่า ทางพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ไม่ได้ยืนยันว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะเพียงแต่ให้การว่าทางพิพาทเป็นเสมือนทางสาธารณะ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

สำหรับปัญหาว่า จำเลยได้ภารจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความหรือไม่นั้นจำเลยอ้างว่าจำเลยได้ภารจำยอมในทางพิพาทโดยใช้เป็นทางเดินเข้าออกสู่ทางสาธารณะและใช้วางสินค้าเพื่อจำหน่าย เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยนำโครงเหล็กของจำเลยออกไปจากทางพิพาทเท่านั้น มิได้ห้ามจำเลยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ จึงถือว่าจำเลยมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิเรื่องการใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งในส่วนนี้ สำหรับการใช้วางสินค้าเพื่อจำหน่ายนั้น เห็นว่า ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเรียกว่าสามยทรัพย์แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของอาคารตึกแถวเลขที่ 221 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่อยู่ติดทางพิพาท แต่การที่จำเลยใช้ทางพิพาทวางสินค้าเพื่อจำหน่ายในกิจการค้าของจำเลยนั้น เป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยโดยเฉพาะมิได้เกี่ยวกับประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของ ดังนั้น ภารจำยอมจึงไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ จำเลยไม่ได้ภารจำยอมในทางพิพาทดังอ้าง กรณีไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าจำเลยใช้ทางพิพาทมานานเท่าใด เพราะไม่ทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป

ปัญหาสุดท้ายว่า ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 825บาท นั้น เหมาะสมแก่สภาพของทางพิพาทแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share