แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ทั้งสองอ้างว่าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ แต่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐออก น.ส. ๓ ก. ให้แก่ ส. โดยไม่ชอบทับที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วน ส. ไม่มีสิทธินำที่ดินไปขายฝากและผู้รับซื้อฝากไม่มีสิทธิขายต่อให้จำเลยที่ ๑ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ส่งมอบ น.ส. ๓ ก. คืนแก่สำนักงานที่ดิน และให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอน น.ส. ๓ ก. หรือเพิกถอนเฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีซึ่งศาลพิพากษาว่าที่ดินเป็นสิทธิครอบครองของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งผูกพันโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า ข้อหาและข้อต่อสู้เป็นเรื่องสิทธิครอบครอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์ทั้งสองหรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๓/๒๕๕๖
วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดเดชอุดม
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเดชอุดมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ นายสมบูรณ์ นำระนะ ที่ ๑ นางปั่น นำระนะ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องนายวิรัตน์ กุลแก้ว ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเดชอุดม เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๖๙/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลตาเกา อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อปี ๒๕๓๙ โจทก์ทั้งสองได้แจ้งการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินคนละ ๑๒ ไร่เศษ ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาน้ำยืน แต่ปรากฏว่ามีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๔๔๗ ตำบลตาเกา อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ให้แก่นายสัมฤทธิ์ อินตะ ไปแล้วเมื่อปี ๒๕๒๑ โดยออกทับที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วน ทั้งที่นายสัมฤทธิ์ไม่เคยแจ้งการครอบครอง ไม่เคยพิสูจน์การทำประโยชน์และไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว และทางราชการไม่เคยประกาศการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงดังกล่าว การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๔๔๗ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายสัมฤทธิ์ไม่มีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปขายฝากให้แก่นายเดชา โชควิวัฒนวนิช และนายเดชาไม่มีสิทธินำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายต่อให้จำเลยที่ ๑ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๔๔๗ คืนแก่สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาน้ำยืน และให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวหรือเพิกถอนเฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๔๔๐/๒๕๕๒ ของศาลจังหวัดเดชอุดม ซึ่งศาลพิพากษาว่าที่ดินเป็นสิทธิครอบครองของจำเลยที่ ๑ ให้ขับไล่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ กับพวกรวม ๗ คน ออกจากที่ดินดังกล่าวและให้ชดใช้ค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืนและคดีถึงที่สุด
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โดยโจทก์ทั้งสองเคยยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีในข้อเท็จจริงเดียวกับคดีนี้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๕/๒๕๔๒ (ที่ถูก ๑๗๕๔/๒๕๔๒) ซึ่งศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชนะคดี แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ และศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๘๕/๒๕๕๑ และโจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลจังหวัดเดชอุดมในข้อเท็จจริงเดียวกันนี้อีก เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๐/๒๕๕๒ ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โดยอาศัยข้อเท็จจริงตาม คำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ที่ได้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. พิพาทซึ่งผูกพันโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ ๒ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๔๔๗ โดยถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ ๒ ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวโดยมิชอบ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ออกคำสั่งทางปกครอง โดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเดชอุดมพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าการออกหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของทางราชการให้แก่ผู้มีชื่อทับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ทั้งสอง การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) หรือเพิกถอนในส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องอธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ ๒ มาด้วย แต่ในการที่ศาลจะพิจารณาว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของทางราชการให้แก่ผู้มีชื่อทับที่ดินของโจทก์ทั้งสองเพื่อที่จะมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือไม่ ศาลจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความ โดยจะต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติก่อนว่าโจทก์ทั้งสองหรือจำเลยที่ ๑เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญในข้อหาแห่งคดี ดังนั้น คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และ ๒๒๓ หากศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีใดแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๔๔๗ ให้แก่นายสัมฤทธิ์ อินตะ ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วนอันเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกล่าวอ้างว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ตามมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงฟ้องขอให้ศาลมีคำบังคับให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวหรือเพิกถอนเฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการด้วยการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับประเด็นปัญหาว่าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี แม้จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การพิจารณาแต่เพียงเฉพาะประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินย่อมไม่ครอบคลุมทุกประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่กล่าวอ้างว่า พนักงานเจ้าหน้าที่มิได้พิสูจน์การทำประโยชน์และไม่ดำเนินการประกาศการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ก็เป็นประเด็นปัญหาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นกัน ทั้งนี้ หากการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้าง กระบวนการในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทในคดีนี้ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองสามารถเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวได้ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน มีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน เมื่อคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่มีการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๔๗ ให้แก่นายสัมฤทธิ์ ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วน การออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๔๗ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายสัมฤทธิ์ไม่มีสิทธินำที่ดิน น.ส. ๓ ก. แปลงดังกล่าวไปขายฝากและผู้รับซื้อฝากไม่มีสิทธิขายต่อให้จำเลยที่ ๑ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ส่งมอบ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๔๗ คืนแก่สำนักงานที่ดินจังหวัด และให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวหรือเพิกถอนเฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำกับคดีของศาลจังหวัดเดชอุดมที่ศาลพิพากษาว่า ที่ดินเป็นสิทธิครอบครองของจำเลยที่ ๑ ให้ขับไล่โจทก์ทั้งสองกับพวก ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืนและคดีถึงที่สุด และจำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โดยโจทก์ทั้งสองเคยยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีในข้อเท็จจริงเดียวกับคดีนี้ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. พิพาทซึ่งผูกพันโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๔๗ โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า ข้อหาและข้อต่อสู้เป็นเรื่องสิทธิครอบครอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์ทั้งสองหรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสมบูรณ์ นำระนะ ที่ ๑ นางปั่น นำระนะ ที่ ๒ โจทก์ นายวิรัตน์ กุลแก้ว ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ