แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้แม้จำเลยที่ ๓ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๔ เป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า โดยซื้อมาจาก ก. จำเลยที่ ๓ ได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ซึ่งรับโอนมรดกที่ดินและจำเลยที่ ๒ ซึ่งซื้อที่ดิน จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันเพิกถอนโฉนดที่ดิน ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรม และพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ก. ไม่เคยขายหรือมอบการครอบครองที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๒ ได้กรรมสิทธิ์ ในที่ดินโดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ทั้งที่ดินดังกล่าวมิใช่แปลงเดียวกับที่ดินมือเปล่าตามฟ้องโจทก์ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแล้ว เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๒/๒๕๕๖
วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ นายพูลสมบัติ ดำเนินชาญวนิชย์ โจทก์ ยื่นฟ้องนางสาวกิติยา แก้วคำ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแก่น แก้วคำ ที่ ๑ นางเฉลียว กุฎีทอง ที่ ๒ สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาพนมสารคาม ที่ ๓ กรมที่ดิน ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๒๘/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๑ งาน โดยซื้อมาจากนายแก่น แก้วคำ เจ้าของที่ดินเดิม โจทก์เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนถึงปัจจุบัน โดยนายแก่นไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านแต่อย่างใด ต่อมาโจทก์พบว่าในปี ๒๕๔๐ นายแก่นนำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๓๐ ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๑ งาน ๗๑ ตารางวา ให้แก่นายแก่นอันเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายแก่นถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ รับโอนมรดกที่ดินพิพาท แต่ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะการออกโฉนดที่ดินพิพาทไม่ชอบ เมื่อจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเช่นกัน การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมโฉนดที่ดินพิพาท และพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า นายแก่นไม่เคยขายหรือมอบการครอบครองที่ดินมือเปล่าให้แก่โจทก์ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของนายแก่นและนายแก่นมีสิทธิยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินได้ จำเลยที่ ๒ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๓๓๐ มาโดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ทั้งที่ดินดังกล่าวมิใช่แปลงเดียวกับที่ดินมือเปล่าตามฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การออกโฉนดที่ดินให้แก่นายแก่นชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแล้ว ไม่ได้ละเมิดต่อโจทก์ คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออกโฉนดที่ดินที่โจทก์อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน ความมุ่งหมายในการฟ้องคดีก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดิน ทั้งจากคำให้การบางประเด็นของจำเลยที่ ๒ ว่า นายแก่นไม่เคยขายหรือมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ นายแก่นจึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกโฉนดที่ดินได้ จำเลยที่ ๒ จดทะเบียนซื้อที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต ทั้งเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินตามฟ้องโจทก์นั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ การออกโฉนดที่ดินที่โจทก์ อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์มีความประสงค์จะให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทที่อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ โดยการสั่งให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม แม้คดีนี้ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หรือไม่ ประเด็นดังกล่าวก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการดำเนินการออกโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวมิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน และนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ อีกทั้งจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีหน้าที่ดำเนินการออกโฉนดที่ดิน จึงมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทที่ศาลจะพิพากษาเฉพาะสิทธิในที่ดินเพียงอย่างเดียว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นหลักของคดี ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีจึงมิใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินโดยเฉพาะเท่านั้น
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๓ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและจำเลยที่ ๔ เป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า โดยซื้อมาจากนายแก่นเจ้าของที่ดินเดิม แต่จำเลยที่ ๓ ได้ออกโฉนดในที่ดินพิพาทให้แก่นายแก่นตามที่ยื่นคำขออันเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ซึ่งรับโอนมรดกที่ดินพิพาทก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์และจำเลยที่ ๒ ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เช่นกัน ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมโฉนดที่ดินพิพาท และพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า นายแก่นไม่เคยขายหรือมอบการครอบครองที่ดินมือเปล่าให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของนายแก่นและนายแก่นมีสิทธิยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินได้จำเลยที่ ๒ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ทั้งที่ดินดังกล่าวมิใช่แปลงเดียวกับที่ดินมือเปล่าตามฟ้องโจทก์ และจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินให้แก่นายแก่นชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแล้ว ไม่ได้ละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายพูลสมบัติ ดำเนินชาญวนิชย์ โจทก์ นางสาวกิติยา แก้วคำ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแก่น แก้วคำ ที่ ๑ นางเฉลียว กุฎีทอง ที่ ๒สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาพนมสารคาม ที่ ๓ กรมที่ดิน ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ