คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ปศุสัตว์”‘ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 (2)ย่อมหมายถึงสัตว์สี่เท้าที่เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร จำเลยใช้มีดฟันขาสุกรผู้เสียหายเป็นแผลเกือบขาด ย่อมมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่เป็นปศุสัตว์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 359 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจใช้มีดพร้าเป็นอาวุธฟันสุกรเมียพันธุ์เกษตร ๑ ตัว ของนายสมพร เรืองเพชร ถูกที่ขาหลังข้างขวาเกือบขาดทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาทำให้เสียหายทำลาย ทำให้เสื่อมค่า และทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งปศุสัตว์อันเป็นทรัพย์ของผู้อื่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๓๕๙
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๘ ไม่ผิด มาตรา ๓๕๙ เพราะสุกรไม่ใช่ปศุสัตว์
โจทก์อุทธรณ์ว่า คำว่า ปศุสัตว์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๙(๒) ย่อมหมายถึงสุกรด้วย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานให้ความหมายคำว่า “ปศุ” ไว้ว่าหมายถึงสัตว์เลี้ยงสำหรับใช้งานและเป็นอาหารมักประกอบคำสัตว์ว่า ปศุสัตว์ สุกรก็อยู่ในประเภทสัตว์เลี้ยงสำหรับใช้เป็นอาหาร จึงหมายถึงสุกรด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๙
จำเลยฎีกาว่าสุกรไม่เป็นปศุสัตว์
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า คำว่า ปศุสัตว์นี้ย่อมเป็นที่รู้กันโดยทั่ว ๆ ไปว่า หมายถึงสัตว์สี่เท้าที่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารด้วยเหตุนี้ ประมวลกฎหมายอาญาจึงมิได้บัญญัติบทนิยามคำว่า ปศุสัตว์ไว้ส่วนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานที่แปลคำว่า “ปศุ” ไว้ว่าสัตว์ที่เลี้ยงไว้สำหรับใช้งานและเป็นอาหารนั้น ก็ควรจะหมายความว่าสัตว์ที่เลี้ยงไว้สำหรับใช้งานอย่างหนึ่ง และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นอาหารอย่างหนึ่ง หาใช่หมายถึงสัตว์ชนิดเดียวกับที่เลี้ยงไว้ทั้งใช้งานและเป็นอาหารดังที่จำเลยฎีกาไม่ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน

Share