แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่คณะอนุกรรมการสวัสดิการกองบิน ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลภายนอก โดยอ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดทุจริตเงินค่าจำหน่ายน้ำมันให้แก่ลูกค้าของโจทก์ เห็นว่า กิจการสถานีบริการจำหน่ายเชื้อเพลิงเป็นกิจการในเชิงธุรกิจและผู้ดำเนินการจัดสวัสดิการจะเป็นข้าราชการหรือผู้ที่มิใช่ข้าราชการก็ได้ การที่โจทก์แต่งตั้งจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกองบิน ๒ เป็นผู้จัดการสถานี การปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ ที่ได้รับแต่งตั้ง จึงมิใช่การปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยตรง แต่เป็นเพียงหน้าที่บริหารจัดการกิจการสถานีในเชิงธุรกิจการค้ากับบุคคลทั่วไปเพื่อให้มีผลกำไรเข้ากองทุนสวัสดิการของกองบิน ๒ เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดในมูลละเมิดในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในกิจการสถานีบริการจำหน่ายเชื้อเพลิง จึงมิใช่กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างในกิจการสถานีฯ และจำเลยที่ ๓ เป็นลูกค้าจึงต่างเป็นเอกชน กรณีมูลละเมิดตามฟ้องที่กระทำโดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๐/๒๕๕๖
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดลพบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดลพบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ คณะอนุกรรมการสวัสดิการกองบิน ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องนาวาอากาศโท สุวิทย์ พึ่งกัน ที่ ๑ นางกัลยกร เกษาคม ที่ ๒ พันจ่าอากาศเอก ก้องเกียรติ เกิดสาท ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดลพบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๔๕/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากกรณีจำเลยทั้งสามร่วมกันทุจริตเงินค่าซื้อน้ำมัน โดยจำเลยที่ ๑ ผู้จัดการสถานีบริการจำหน่ายเชื้อเพลิง กระทิงแดง กองบิน ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๓ ลูกค้าของสถานีนำน้ำมันของสถานีไปจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่สมาชิกของกองทุนสวัสดิการกองบิน ๒ แล้วไม่นำเงินส่งให้สถานี โดยจำเลยที่ ๒ พนักงานบัญชีของสถานีปกปิดยอดการซื้อเชื่อน้ำมันของจำเลยที่ ๓ ส่วนที่เกินกว่า
จำนวนที่ได้รับอนุมัติ ด้วยการไม่นำชื่อของจำเลยที่ ๓ ส่งให้แผนกการเงินหักเงินเดือนในแต่ละเดือน โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนกับพวกรวม ๒,๐๐๐,๔๓๘ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๓ ชำระเงินบางส่วนคืนแล้ว คงเหลือหนี้ที่จำเลยทั้งสามต้องชำระคืน ๑,๙๕๗,๘๓๘ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทุจริตเงินค่าซื้อน้ำมัน กรณีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการซื้อขายเงินผ่อนตามการอนุมัติของผู้บังคับบัญชาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ แล้วจำเลยที่ ๓ ผ่อนชำระค่าซื้อน้ำมันไม่ครบถ้วน จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ควบคุมและตรวจสอบการขายน้ำมันได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามที่กล่าวอ้าง ขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ ๓ ยังผ่อนชำระเงินโดยการหักเงินเดือน โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ทั้งเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งโจทก์จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นการขายน้ำมันโดยให้สินเชื่อ จำเลยที่ ๓ เป็นเพียงพนักงานสถานีจำหน่ายน้ำมันของโจทก์ เหตุที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดจากการที่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าน้ำมันจากการให้สินเชื่อของสถานีของโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดลพบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปของจำเลยที่ ๑ หาใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดสวัสดิการของโจทก์เป็นการดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการกองทัพอากาศ ว่าด้วยการจัดสวัสดิการกองบิน ๒ กองพลบินที่ ๑ กองบัญชาการยุทธทางอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ประกอบระเบียบสวัสดิการกองทัพอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๙.๒ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สวัสดิการแก่ข้าราชการในสังกัด ช่วยเหลือสมาชิกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการครองชีพตามความจำเป็นนอกเหนือจากสวัสดิการที่ทางราชการจัดให้ การดำเนินการของโจทก์จึงเป็นการดำเนินกิจการตามที่กฎหมายให้อำนาจและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินกิจการสวัสดิการก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจและถือเป็นการปฏิบัติราชการ เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและในฐานะผู้จัดการสถานีบริการจำหน่ายเชื้อเพลิง มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบบริหารงานของสถานีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตรวจสอบ ดูแล รับผิดชอบการเงินและบัญชี เป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ กำกับดูแลการปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและรายงานกิจการของสถานีให้ประธานอนุกรรมการทราบทุกเดือน ได้อาศัยโอกาสในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ทำบัญชีส่งให้แผนกการเงินของกองบิน ๒ เพื่อหักเงินเดือนของจำเลยที่ ๓ ในการซื้อเชื่อน้ำมันแล้วเบียดบังยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ข้อพิพาทในคดีนี้มุ่งประสงค์จะเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ มูลละเมิดอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย การกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๓ จึงเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ ๒ แม้มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่มูลความแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกันสมควรดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเดียวกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์อ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีจำเลยทั้งสามร่วมกันทุจริตเงินค่าซื้อน้ำมัน โดยจำเลยที่ ๑ ผู้จัดการสถานี ร่วมกับจำเลยที่ ๓ ลูกค้าของสถานีนำน้ำมันไปจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่สมาชิกของกองทุนสวัสดิการกองบิน ๒ แล้วไม่นำเงินส่งให้สถานี จำเลยที่ ๒ พนักงานบัญชี ปกปิดยอดการซื้อเชื่อน้ำมันของจำเลยที่ ๓ ส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ได้รับอนุมัติ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า คดีนี้กองบิน ๒ ดำเนินกิจการสวัสดิการ ๗ กิจการ ตามบันทึกข้อความสำนักงานกองทุนสวัสดิการ บน. ๒ พล.บ. ๑ บยอ. ที่ ๔๑/๕๐ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๐ และหลายกิจการเป็นการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจโดยเป็นกิจการสวัสดิการซึ่งเป็นไปในทางการค้ากับบุคคลทั่วไป ได้แก่ ร้านค้า ตลาด ตลาดนัด รวมทั้งสถานีบริการจำหน่ายเชื้อเพลิง กระทิงแดง กองบิน ๒ ซึ่งเป็นกิจการจำหน่ายเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์อื่นตามมาตรฐานที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำหนด และโดยที่ในการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการนั้น คณะกรรมการสวัสดิการภายในส่วนราชการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคล คณะบุคคล หรือคณะอนุกรรมการที่เป็นข้าราชการหรือผู้ที่มิใช่ข้าราชการเพื่อดำเนินการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการนั้นได้ตามข้อ ๙ (๔) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ และข้อ ๙.๔ แห่งระเบียบสวัสดิการกองทัพอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๘ ดังนั้น เมื่อกิจการสถานีบริการจำหน่ายเชื้อเพลิงเป็นกิจการในเชิงธุรกิจและผู้ดำเนินการจัดสวัสดิการจะเป็นข้าราชการหรือผู้ที่มิใช่ข้าราชการก็ได้ การที่คณะอนุกรรมการสวัสดิการกองบิน ๒ กองพลบินที่ ๑ กองบัญชาการยุทธทางอากาศ โดยประธานอนุกรรมการแต่งตั้งจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกองบิน ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกิจการสถานีบริการจำหน่ายเชื้อเพลิงในตำแหน่งผู้จัดการสถานีตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการกองทัพอากาศ ว่าด้วยการจัดสวัสดิการกองบิน ๒ กองพลบินที่ ๑ กองบัญชาการยุทธทางอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๘.๔ ออกตามความในข้อ ๙.๒ แห่งระเบียบสวัสดิการกองทัพอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๘ การปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ ที่ได้รับแต่งตั้งจึงมิใช่การปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยตรง แต่เป็นเพียงหน้าที่บริหารจัดการกิจการสถานีในเชิงธุรกิจการค้ากับบุคคลทั่วไปเพื่อให้มีผลกำไรเข้ากองทุนสวัสดิการของกองบิน ๒ เท่านั้น คดีนี้เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดในมูลละเมิดในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้แต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในกิจการสถานีบริการจำหน่ายเชื้อเพลิง จึงมิใช่กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์เสียหายอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการเชิงธุรกิจการค้าเท่านั้น คดีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนจำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นลูกจ้างในกิจการสถานีบริการจำหน่ายเชื้อเพลิง และจำเลยที่ ๓ มีฐานะเป็นลูกค้าคนหนึ่งของสถานีบริการจำหน่ายเชื้อเพลิงจึงต่างเป็นเอกชน กรณีมูลละเมิดตามฟ้องที่กระทำโดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างคณะอนุกรรมการสวัสดิการกองบิน ๒ โจทก์ นาวาอากาศโท สุวิทย์ พึ่งกัน ที่ ๑ นางกัลยกร เกษาคม ที่ ๒ พันจ่าอากาศเอก ก้องเกียรติ เกิดสาท ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ