คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4713/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบโดยชัดแจ้งว่า บ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ว. ผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน คือ ค. ผู้เยาว์ ดังนั้น ค. บุตรของ ว. ผู้ที่ถูกทำร้ายถึงตายถือเป็นผู้สืบสันดาน เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้ตายได้ ไม่ว่าบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม และเห็นว่า คดีนี้ ค. ผู้เยาว์ เป็นผู้มีมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมาย บ. มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีอำนาจจัดการแทน ค. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น บ. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของ ค. ผู้เยาว์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) บัญญัติให้ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจัดการแทนผู้เสียหายได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ จากฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบโดยแจ้งชัดว่านางบุญเทียมอยู่กินฉันสามีภริยากับนายวิชัย ผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน คือ นาย ค. ผู้เยาว์ ดังนั้น นาย ค. บุตรของนายวิชัย ผู้ที่ถูกทำร้ายถึงตายถือเป็นผู้สืบสันดาน เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้ตายได้ ไม่ว่าบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม และเห็นว่า คดีนี้นาย ค. ผู้เยาว์ เป็นผู้มีมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมาย นางบุญเทียมมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีอำนาจจัดการแทนนาย ค. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังนั้น นางบุญเทียม ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของนาย ค. ผู้เยาว์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยและพิพากษาใหม่

Share