แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหายและ อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก จำเลยเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับที่มอบให้ผู้เสียหายไปจำนำ ส่วนเงินที่เรียกร้องเอาจาก อ. ได้ความว่าเป็นค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้จำเลย ทั้งไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ. จำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. จึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 (1) (3) วรรคแรก
การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไป และไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหาย เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 313 (1) (3) ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 (1) (3) วรรคแรก จำคุก 16 ปี คำให้การและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 12 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง ฟ. เป็นบุตรของนางติก๊ะ ผู้เสียหาย ขณะเกิดเหตุเด็กหญิง ฟ. อายุ 1 ปีเศษ ตามสำเนารายการเกี่ยวกับทะเบียนบ้าน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2549 จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา ต่อมาจำเลยติดต่อนางตอยบ๊ะ น้องสาวผู้เสียหายและนายอับดลมะเลข ให้ผู้เสียหายนำทองคำหนัก 5 บาท และให้นายอับดลมะเลขนำเงินจำนวน 500,000 บาทไปให้จำเลย แล้วจำเลยจะคืนเด็กหญิง ฟ.ให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของทองคำหนัก 5 บาท ผู้เสียหายเบิกความยอมรับว่าเคยขอยืมเงินจำเลยโดยจำเลยมอบทองคำให้ผู้เสียหายนำไปจำนำและผู้เสียหายยังไม่ได้คืนเงินให้แก่จำเลย แสดงว่า จำเลยเรียกร้องทองคำเท่ากับที่จำเลยให้ผู้เสียหายนำไปจำนำ และในส่วนที่จำเลยเรียกร้องเงินจำนวน 500,000 บาท จากนายอับดลมะเลขนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายอับดลมะเลขว่า นายอับดลมะเลขเป็นหนี้จำเลยและนายฮัสสันสามีจำเลยเป็นเงินเพียง 50,000 บาท ส่วนจำเลยเบิกความว่านายอับดลมะเลขเป็นหนี้จำเลยค่าซื้อที่ดินเป็นเงิน 100,000 บาท และเคยยืมเงินจากนายฮัสสันสามีจำเลยเป็นเงิน 20,000 บาท จำนวนเงินที่นายอับดลมะเลขเป็นหนี้จำเลยตามคำเบิกความของนายอับดลมะเลขและจำเลยดังกล่าวแม้จะเป็นเงินที่น้อยกว่าจำนวน 500,000 บาท ที่จำเลยเรียกร้องจากนายอับดลมะเลขก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าจำเลยและผู้เสียหายรู้จักคุ้นเคยกันมานาน จำเลยเคยเลี้ยงดูบุตรคนอื่นของผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุมาแล้ว 2 คน การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ.ไปจากผู้เสียหายตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ในวันดังกล่าวจำเลยและผู้เสียหายได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ จำเลยก็ไม่ได้เรียกร้องทองคำและเงินจากนายอับดลมะเลขในทันที จำเลยพึ่งจะโทรศัพท์ถึงนางตอยบ๊ะ น้องสาวผู้เสียหายในวันที่ 11 มิถุนายน 2549 และมีการพูดคุยให้ผู้เสียหายนำทองคำหนัก 5 บาท และให้นายอับดลมะเลขนำเงินจำนวน 500,000 บาท ไปมอบให้แก่จำเลย จึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายและนายอับดลมะเลขเพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก การที่จำเลยโทรศัพท์ถึงนางตอยบ๊ะน้องสาวผู้เสียหายในวันที่ 11 มิถุนายน 2549 และมีการเรียกร้องเอาทองคำจากผู้เสียหายและเงินจากนายอับดลมะเลข ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าเป็นการเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับจำนวนที่จำเลยมอบทองคำให้ผู้เสียหายนำไปจำนำ ส่วนจำนวนเงินที่จำเลยเรียกร้องจากนายอับดลมะเลขนั้น แม้จะเป็นจำนวนที่เกินกว่าที่จำเลยอ้างว่านายอับดลมะเลขเป็นหนี้จำเลย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวน ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินค่าที่ดินที่นายอับดลมะเลขจะต้องคืนให้แก่จำเลย โดยจำเลยให้การด้วยว่าจำเลยได้ลงทุนปรับที่ดินที่ซื้อจากนายอับดลมะเลขและใช้เงินไปมากแล้วทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ความว่านายอับดลมะเลขเป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจากนายอับดลมะเลข จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและนายอับดลมะเลข ดังกล่าวจึงมิใช่ค่าไถ่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 (1) (3) วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ซึ่งมีอายุเพียง 1 ปีเศษ ไปจากผู้เสียหายและไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหายดังกล่าวเป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก จำคุก 3 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9