คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินที่หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองนำฝากไว้ที่ธนาคารย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารผู้รับฝาก ธนาคารมีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าของบัญชีตามเงื่อนไขที่ตกลงกันให้ครบถ้วน จำเลยทั้งสามไม่ได้รับมอบการครอบครองและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเงินดังกล่าว ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสามร่วมกันทำเอกสารเท็จนำไปขอเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขในการสั่งจ่ายเพื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของหมู่บ้านแล้วถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจ จึงเป็นการเอาเงินจากบัญชีเงินฝากของหมู่บ้านซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของธนาคาร หาใช่เป็นความผิดฐานยักยอกไม่ เพราะการครอบครองเงินมิได้อยู่กับจำเลยทั้งสามในขณะที่จำเลยทั้งสามกระทำความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 158,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุกคนละ 3 ปี ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 158,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ รับฟังเป็นยุติได้ว่า หมู่บ้านหนองแก หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรีเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ. 2522 ขณะเกิดเหตุมีคณะกรรมการกลางหมู่บ้านรวม 8 คน คือ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 นายสุรศักดิ์ นายทองมี นายสมศรี นายยันต์ นายสมยศ และนายพร โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานคณะกรรมการกลางโดยตำแหน่ง ในปี 2537 หมู่บ้านดังกล่าวได้รับเงินรางวัลจากการประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ระดับภาค ซึ่งกองทัพภาคที่ 1 จัดขึ้น เป็นเงิน 400,000 บาท คณะกรรมการกลางหมู่บ้านและชาวบ้านประชุมกันแล้วมีมติให้หักเงินรางวัลดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาหมู่บ้าน ส่วนที่เหลือให้นำไปเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคาร โดยให้จำเลยที่ 1 นายทองมี และนายสุรศักดิ์เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1 นายทองมี และนายสุรศักดิ์ร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสอยดาว ใช้ชื่อบัญชีว่า เงินหมู่บ้าน อ.พ.ป. บ้านหนองแก โดยกำหนดเงื่อนไขว่า จำเลยที่ 1 นายสุรศักดิ์และนายทองมี ลงลายมือชื่อร่วมกันมีอำนาจเบิกถอนเงินจากธนาคารได้ตามคำขอเปิดบัญชี และตัวอย่างลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย แต่การจะถอนเงินฝากออกมาเพื่อทำกิจการใดๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางหมู่บ้านและที่ประชุมชาวบ้านก่อน ครั้นวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 จำเลยทั้งสามยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอนเงินและเงื่อนไขการสั่งจ่ายจากเดิม เป็นให้จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อร่วมกันเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ ตามหนังสือเรื่องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขการสั่งจ่าย และบัตรตัวอย่างลายมือชื่อ โดยมีรายงานการประชุมลงมติ เป็นหลักฐาน จากนั้นวันที่ 18 สิงหาคม 2540 จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเบิกถอนต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 158,000 บาท จากธนาคารไปตามใบถอนเงิน ต่อมาคณะกรรมการกลางหมู่บ้านทราบเรื่องจึงร้องเรียนต่อนายอำเภอสอยดาว นายอำเภอสอยดาวมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีหนังสือมอบหมายให้นายประเวท ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางหมู่บ้านเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า จำเลยทั้งสามขอเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขในการสั่งจ่ายเพื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของหมู่บ้านแล้วถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจ และโดยทุจริตหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มี นายทองมี และนายสุรศักดิ์ เบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2541 พยานสอบถามเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสอยดาว จึงทราบว่าจำเลยทั้งสามได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของหมู่บ้าน และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันถอนเงินจำนวน 158,000 บาท ออกจากบัญชีดังกล่าวไปแล้ว จึงได้สอบถามกรรมการกลางหมู่บ้านและชาวบ้านบางคนปรากฏว่าไม่มีการประชุมเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอนเงินแต่อย่างใด ทั้งเงินที่จำเลยทั้งสามถอนออกไปก็ไม่ได้ความว่านำไปทำอะไร จึงได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการกลางหมู่บ้านเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม โดยมีนายสมศรี กรรมการกลางหมู่บ้านอีกคนหนึ่งเบิกความสนับสนุนว่า ไม่เคยมีการประชุมเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอนเงินแต่อย่างใด เห็นว่า การที่หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองบ้านหนองแกนำเงินที่ได้รับรางวัลไปเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสอยดาว โดยให้จำเลยที่ 1 นายสุรศักดิ์และนายทองมีเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันเบิกถอนเงินจากธนาคารได้นั้นเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกลางหมู่บ้านซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารหมู่บ้าน ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ. 2522 การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมต้องอาศัยมติของที่ประชุมคณะกรรมการกลางหมู่บ้านเช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่านายทองมี นายสุรศักดิ์และนายสมศรีซึ่งเป็นกรรมการกลางต่างยืนยันว่าไม่มีการประชุมดังกล่าว แม้จำเลยทั้งสามอ้างว่าได้มีการประชุมคณะกรรมการกลางและประชุมชาวบ้านเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2540 ตามสมุดประชุมประจำเดือนแต่เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียว รายชื่อชาวบ้านที่ปรากฏอยู่ว่าเข้าร่วมประชุม ไม่มีผู้ใดลงลายมือชื่อไว้โดยเฉพาะรายงานการประชุมที่ระบุว่ามีมติให้เปลี่ยนคณะกรรมการการคลัง และมีผู้ลงลายมือชื่อไว้ด้านท้าย ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งสามนำไปใช้แสดงเป็นหลักฐานต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอนเงินนั้น ปรากฏว่ามีเพียงผู้ใหญ่บ้านและจำเลยที่ 3 เท่านั้นที่เป็นกรรมการกลางหมู่บ้าน ส่วนจำเลยที่ 2 และนางตะล่อม ซึ่งลงลายมือชื่อไว้ด้วยมิใช่กรรมการกลางและที่มีลายมือชื่อลงไว้อ่านได้ว่า เป็นชื่อ สมจิตร นั้น นายสมกิจ ซึ่งเคยเป็นกรรมการกลางหมู่บ้านคนหนึ่งก็เบิกความยืนยันว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของตน นอกจากนี้ลายมือชื่อที่ลงไว้ในช่องผู้ใหญ่บ้านก็แตกต่างจากลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เช่นนี้ รายงานการประชุมดังกล่าวจึงมีข้อพิรุธหลายประการ ทั้งหากมีการประชุมเกิดขึ้นจริง ก็มีกรรมการกลางเข้าประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ไม่ครบองค์ประชุมที่จะมีมติเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ. 2522 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านและทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกลางหมู่บ้านย่อมทราบดี ประกอบกับนางทิพย์จุฑา พนักงานของธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสอยดาว เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 บอกถึงเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอนเงินว่า เนื่องจากนายสุรศักดิ์และนายทองมีหนีออกจากหมู่บ้านไป ไม่อาจติดตามได้ แต่นายสุรศักดิ์และนายทองมีต่างเบิกความยืนยันว่า ไม่เคยย้ายไปอยู่ที่อื่นเลย สนับสนุนให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาจะเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอนเงินเพื่อถอนเงินจากบัญชีของหมู่บ้านโดยทุจริตมาแต่ต้น ที่จำเลยทั้งสามนำสืบอ้างว่า จำเลยที่ 1 ประชุมตั้งคณะกรรมการกลางหมู่บ้านใหม่ และชาวบ้านเลือกจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการกลาง จากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันเบิกถอนเงินนำไปซื้อวัสดุก่อสร้างให้แก่วัดหนองบอน และนำไปซ่อมรถแทรกเตอร์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งนำมาใช้พัฒนาวัดและหมู่บ้านโดยมิได้นำไปใช้ส่วนตัวนั้น เห็นว่า เป็นคำเบิกความที่ง่ายแก่การยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้ตนพ้นผิด แม้จำเลยทั้งสามจะมีพระฉัตร เจ้าอาวาสวัดหนองบอนเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อปี 2540 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อปูนทรายมาก่อสร้างวัด แต่พระฉัตรก็เบิกความรับว่าไม่ทราบว่าเงินดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะนำมาจากที่ใด ดังนั้นเงินที่ใช้ซื้อวัสดุก่อสร้างอาจเป็นเงินจากทางอื่น มิใช่เงินที่จำเลยทั้งสามถอนจากบัญชีของหมู่บ้านก็ได้ ทั้งหากจำเลยที่ 1 นำเงินของหมู่บ้านมาใช้เพื่อการพัฒนาวัดในหมู่บ้านจริงก็นับเป็นกิจกรรมที่จำเลยที่ 1 ควรบอกให้กรรมการกลางหมู่บ้านทุกคนทราบเพราะเงินที่นำมาใช้มีจำนวนสูงและเป็นเงินรางวัลทั้งหมดที่เหลืออยู่ของหมู่บ้าน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำเช่นนั้น กลับได้ความจากคำเบิกความของนายสุรศักดิ์ด้วยว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 หลังจากจำเลยทั้งสามถอนเงินไปแล้วเกือบ 1 ปี นายสุรศักดิ์ นายทองมี และจำเลยที่ 1 จะไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าแรงทำป้ายปูนของหมู่บ้านแต่จำเลยที่ 1 กลับให้นายสุรศักดิ์และนายทองมีรออยู่ที่ตลาด ส่วนจำเลยที่ 1 แยกออกไปแล้วนำเงิน 10,000 บาท กลับมามอบให้ อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 พยายามบ่ายเบี่ยงปกปิดไม่ให้นายสุรศักดิ์และนายทองมีได้ทราบว่ามีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของหมู่บ้านไปแล้ว หากจำเลยทั้งสามถอนเงินออกไปโดยสุจริตด้วยมีเจตนาจะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหมู่บ้านจริง จำเลยที่ 1 ก็ควรแจ้งแก่นายสุรศักดิ์และนายทองมีเสียแต่ในขณะนั้นว่ามีการนำเงินดังกล่าวไปใช้แล้ว พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสามขอเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขในการสั่งจ่ายเพื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของหมู่บ้านแล้วถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจ และเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการต่อมาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า เงินที่หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองบ้านหนองแกนำฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารผู้รับฝาก โดยธนาคารมีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าของบัญชีตามเงื่อนไขที่ตกลงกันให้ครบถ้วนเท่านั้น ทั้งจำเลยทั้งสามไม่ได้รับมอบการครอบครอง และไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเงินดังกล่าวแต่อย่างใด การร่วมกันลงลายมือชื่อเพื่อถอนเงินจากธนาคารของจำเลยทั้งสามเป็นไปโดยพลการ มิได้รับความเห็นชอบหรือความยินยอมจากคณะกรรมการกลางหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้ดูแลบริหารการใช้เงินนั้นดังวินิจฉัยมาข้างต้น เมื่อจำเลยทั้งสามเอาเงินดังกล่าวไปโดยทุจริต จำเลยทั้งสามย่อมมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อเงินที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลักไปเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารผู้รับฝากจึงต้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินดังกล่าวแก่เจ้าของ และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่า การร้องทุกข์ชอบหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากความผิดฐานลักทรัพย์มิใช่ความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยทั้งสามในสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านในหมู่บ้าน ระวังรักษาประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะเกิดแก่หมู่บ้านของตน จำเลยที่ 1 ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้เป็นผู้ปกครองท้องที่ แต่กลับกระทำความผิดเสียเอง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นับว่าเป็นผู้ใหญ่ อยู่ในวัยที่รู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว แต่กลับร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ส่วนรวมกรณีจึงไม่มีเหตุจะรอการลงโทษ ทั้งโทษที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดก็เหมาะสมแล้ว แต่อย่างไรก็ตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาจึงมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ศาลฎีกาเห็นควรลดโทษให้จำเลยทั้งสามตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 158,000 บาท แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share