แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การกระทำละเมิดต่อทรัพย์สินของผู้อื่น ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 เมื่อจำเลยกระทำละเมิดทำให้ตอม่อสะพานของโจทก์เสียหาย จำเลยก็ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในการกระทำดังกล่าวเท่านั้น โจทก์จะให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการรื้อสะพานนั้นหาได้ไม่.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลเจ้าของเรือยนต์ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยเป็นผู้ควบคุมเรือยนต์ของจำเลยที่ 1 ได้ควบคุมเรือดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เรือปะทะชนตอม่อสะพานเทพหัสดินทร์ซึ่งเป็นสะพานที่อยู่ในความดูแลของโจทก์ เป็นเหตุให้ตอม่อสะพานชำรุดแตกหักใช้การไม่ได้จำนวน 3 ต้น ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 มิใช่นายเรือผู้ควบคุมเรือตามโจทก์อ้าง ความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะโจทก์ประมาทโดยปล่อยตอม่อที่มิได้ใช้การไว้ไม่ดำเนินการถอนออก ทั้งตอม่อก็มิใช่ของโจทก์ ค่าเสียหายไม่เกิน 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย และเป็นความประมาทของโจทก์ที่มิได้รื้อถอนตอม่อซึ่งมิได้ใช้ออกไป ค่าเสียหายในการซ่อมตอม่อไม่เกิน 5,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 26 เมษายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยกับค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ประเด็นในเรื่องค่าเสียหายตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 นั้น พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า ตามคำเบิกความของนายโสฬส เตมียบุตร พยานโจทก์ได้ความว่า สะพานที่เกิดเหตุเป็นสะพานเก่าที่เลิกใช้มาประมาณ 15 ปี เพราะมีการสร้างสะพานใหม่ขึ้นและเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องทุบสะพานเก่าทิ้ง โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายนั้น คดีได้ความจากคำเบิกความของนายดุสิต สุรินทรางกูร และนายโสฬส พยานโจทก์ว่า เนื่องจากสะพานที่เกิดเหตุแคบเกินไปไม่สามารถรับการจราจรที่เพิ่มขึ้น จึงมีการสร้างสะพานใหม่ และเลิกใช้สะพานที่เกิดเหตุ แต่นายดุสิตก็เบิกความว่า โจทก์ยังบำรุงรักษาสะพานแห่งนี้อยู่ ส่วนนายโสฬสก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่า ไม่เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่สร้างสะพานใหม่แล้วจะต้องรื้อสะพานเก่าเสมอไป เป็นดุลพินิจ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากมีหน้าที่ต้องทุบสะพานที่เกิดเหตุทิ้งอยู่แล้ว จึงยังรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการรื้อถอนสะพานที่เกิดเหตุเป็นเงิน 300,000 บาท รายละเอียดตามเอกสารหมายจ. 15 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 กำหนดให้ผู้ที่กระทำละเมิดต่อทรัพย์สินของผู้อื่น จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยทำให้ตอม่อสะพานของโจทก์เสียหาย จำเลยก็ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในการกระทำดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์จะให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในการรื้อสะพานนั้นเป็นเงิน 300,000บาทหาได้ไม่ แต่โดยเหตุที่ได้ความจากคำเบิกความของนายโสฬส พยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการตรวจสอบและประเมินความเสียหายของสะพานที่เกิดเหตุว่า หากจะซ่อมแซมความเสียหายของสะพานดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 400,000 บาทประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า สะพานที่เกิดเหตุนี้โจทก์ได้เลิกใช้มานานเนื่องจากมีความคับแคบ โดยโจทก์ได้สร้างสะพานใหม่ขึ้นมาใช้แทนแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 100,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 เมษายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี’.