คำวินิจฉัยที่ 5/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๕๕

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑ นายสุวรรณ์ ศรีลาชัย โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง ที่ ๑ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๔๙๓/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์มีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๑ โจทก์ยืนรอรับส่งผู้โดยสารบริเวณด้านหน้าประตูทางเข้า – ออก (ประตูที่ ๔) ซึ่งเป็นประตูเหล็กอัลลอยย์ของจำเลยที่ ๑ แต่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๒ ปรากฏว่าประตูเหล็กอัลลอยย์ดังกล่าวมีสภาพชำรุด หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอ ล้มทับตัวโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ กระดูกสันหลังข้อที่ ๕ ยุบตัว และกระดูกต้นขาซ้ายหัก จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองประตูเหล็กอัลลอยย์ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ครอบครองประตูที่เกิดเหตุเพราะจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ การที่ตัวยึดรางล้อด้านบนของประตูเหล็กหักมาล้มทับโจทก์เกิดจากอุบัติเหตุไม่มีผู้ใดคาดหมายได้ เนื่องจากก่อนวันเกิดเหตุประตู ที่เกิดเหตุมีลักษณะมั่นคงแข็งแรงอยู่ในสภาพใช้การได้ดีตามปกติ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินจริง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้กระทำละเมิดเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มาตรา ๔๓๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้ต้องปฏิบัติ ในการแก้ไขความชำรุดบกพร่องหรือบำรุงรักษาทรัพย์สินในการครอบครองของจำเลยทั้งสองให้อยู่ในสภาพที่ดีเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๐ กำหนดให้จำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน การคลังแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน การบริหารพัสดุภาครัฐ กิจการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่ผู้เดียวตามกฎหมาย และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารและการพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ ฯลฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๙ กำหนดให้จำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการรับจ่าย การเก็บรักษา การใช้จ่ายเงิน การใช้จ่ายทรัพย์สินหรือการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วย รับตรวจ ตรวจสอบบัญชีและรายงานรายรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณและงบแสดงฐานะการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ ตรวจสอบบัญชีทุนสำรองเงินตราประจำปี และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายและตามความจริงหรือไม่ ฯลฯ โดยกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะให้จำเลยทั้งสองมีหน้าที่บำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองมิให้ชำรุดบกพร่องแต่อย่างใด การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้บำรุงรักษาประตูทางเข้า – ออก ที่เกิดเหตุอย่างเพียงพอ จึงมีสภาพชำรุดบกพร่อง เป็นเหตุให้ล้มทับตัวโจทก์ได้รับบาดเจ็บ จึงมิได้เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องปฏิบัติ แต่เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๔ ซึ่งเป็นกฎหมาย ที่กำหนดหน้าที่ให้บุคคลทั่วไปต้องปฏิบัติ คดีตามคำฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นกระทรวง จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นกรม จำเลยทั้งสองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่โดยรวมของจำเลยทั้งสองที่มีความเกี่ยวข้องกับการเงินการคลังอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะที่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีระบบการรักษาความปลอดภัยอย่างสูงแล้ว การรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงแข็งแรงของอาคารสถานที่และทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่จึงเป็นกรณีที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้การเก็บรักษาระบบฐานข้อมูล เอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลังของประเทศให้มีความปลอดภัย และโดยที่การดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องมีอาคารสถานที่ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการปฏิบัติการและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการติดต่อประสานงาน รวมทั้งประชาชน ผู้มาติดต่อราชการให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานและมีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา ข้อ ๑๓ (ค) ของประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและอำนาจหน้าที่ภายในของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงได้กำหนดให้สำนักงานบริหารงานกลาง ซึ่งเป็นส่วนราชการภายในของจำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารพัสดุ การจัดหา การบริการ การควบคุมดูแลบำรุงรักษาเกี่ยวกับยานพาหนะ อาคารสถานที่และอุปกรณ์ และงานด้านการพิมพ์ รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรณีจึงเห็นได้ว่า ระเบียบดังกล่าวได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษาอาคารสถานที่ของจำเลยที่ ๒ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยไว้เป็นการเฉพาะ การรักษาความปลอดภัยซึ่งรวมถึงความมั่นคงแข็งแรงของอาคารสถานที่ของหน่วยงานดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสองตามที่ระเบียบกำหนดไว้ การที่ประตูทางเข้า – ออก (ประตู ๔) ซึ่งเป็นของจำเลยที่ ๑ แต่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๒ ล้มทับตัวโจทก์ เนื่องจากมีสภาพชำรุดหรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ในการซ่อมบำรุงประตูอาคารสำนักงานซึ่งเป็นสถานที่ราชการที่ใช้ในการดำเนินกิจการทางปกครองของจำเลยที่ ๒ ให้อยู่ในสภาพมั่นคง ใช้การได้ดี และมีความปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วไป เป็นเหตุให้ประตูดังกล่าวล้มทับโจทก์ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และหากจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดตามคำฟ้อง ศาลปกครองสามารถออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามนัยมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น คดีนี้จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นกระทรวง จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นกรม จำเลยทั้งสองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน การคลังแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน การบริหารพัสดุภาครัฐ กิจการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร ฯ ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ส่วนจำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการเงินแผ่นดิน ตรวจสอบบัญชีและรายงานการรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ ตรวจสอบบัญชีทุนสำรองเงินตราประจำปี ตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากร ฯ ตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้โจทก์อ้างว่า ประตูเหล็กอัลลอยย์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๒ มีสภาพชำรุด หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอ ล้มทับตัวโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิด เหตุละเมิดดังกล่าวเป็นเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างบำรุงรักษาไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยทั่ว ๆ ไปของผู้ครองโรงเรือนที่จะต้องใช้ความระมัดระวัง มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) จึงไม่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสุวรรณ์ ศรีลาชัย โจทก์ กระทรวงการคลัง ที่ ๑ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share