แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ทายาทที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1605 มุ่งเฉพาะบุคคลที่เป็นทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายฉะนั้น เมื่อขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม มีทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก คือ พ. ซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 1 จำเลย อ. และ ซ. มารดาของผู้ตาย แม้ว่าโจทก์ที่ 1 จะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ. แต่จะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายก็เพียงในฐานะผู้สืบสิทธิของ พ. โดยรับมรดกเฉพาะส่วนของ พ. เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทายาทอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพิสิฐศักดิ์เอมระดี ซึ่งนายพิสิฐศักดิ์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสิริเพ็ญ เอมระดีเจ้ามรดก จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางสิริเพ็ญ จำเลยไม่ได้จัดการแบ่งมรดกให้แก่นายพิสิฐศักดิ์ ต่อมานายพิสิฐศักดิ์ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายพิสิฐศักดิ์ จึงมีสิทธิได้รับมรดกของนางสิริเพ็ญแทนที่นายพิสิฐศักดิ์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสอง 2,261,884.28 บาท และให้โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละ 1 ใน 6 ส่วน โดยให้จำเลยไปทำการลงชื่อโจทก์ทั้งสองในทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 19640 และ 8837 ตำบลฉิมพลี อำเภอตลิ่งชันกรุงเทพมหานคร และในทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 9489 ตำบลลาดบัวหลวง อำเภอราชคราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และในทะเบียนที่ดินมือเปล่าที่จังหวัดกาญจนบุรีและในทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ห – 1719 กรุงเทพมหานคร 5 ช – 4395กรุงเทพมหานคร 9 ร – 9144 กรุงเทพมหานคร และ 7 ป – 7996 กรุงเทพมหานครถ้าไม่อาจแบ่งกันได้ก็ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า นางสิริเพ็ญมีทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายรวม 4 คน มิใช่ 3 คนตามที่โจทก์อ้าง จำเลยได้ทำหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อดำเนินการจัดแบ่งให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายในขณะที่นายพิสิฐศักดิ์ เอมระดี ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้รับการจัดแบ่งมรดกไปแล้วบางส่วน นอกจากนั้นจำเลยได้ถอนเงินฝากจากธนาคารออมสิน สาขาหน้าพระลาน และธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาท่าเตียน รวม233,653.03 บาท ใช้จ่ายในการติดตามทรัพย์มรดกและค่าจัดงานศพเจ้ามรดกส่วนเงินค่าเช่านาจำนวน 7,000 บาท ยังไม่ได้รวบรวมเข้ากองมรดก และหนี้เงินกู้150,000 บาท นั้น กำลังติดตามทวงถามจากผู้กู้ อย่างไรก็ตามในช่วงระหว่างที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดก ทายาทอีกคนหนึ่งคือนางสาวอรอนรรฆ์ เอมระดี ได้หายไปจากภูมิลำเนา ซึ่งทายาทที่เหลืออยู่จึงมีความเห็นร่วมกันว่าให้เก็บรักษาทรัพย์มรดกไว้ก่อนและหากจำเป็นก็ให้ขายทรัพย์มรดกบางส่วนออกไปได้ รวมทั้งได้ตกลงที่จะร่วมกันและแทนกันปกครองทรัพย์มรดกเป็นการชั่วคราวก่อน โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกเพราะมิใช่ทายาทและโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ปิดบัง ยักย้ายและเอาทรัพย์มรดกบางส่วนไปรวมทั้งได้ลักเอาทรัพย์สินจำพวกเครื่องเพชรและเครื่องทองของนางซอย สารำพึงมารดาของเจ้ามรดกไปหลายรายการ โจทก์ที่ 1 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดก จึงไม่มีอำนาจฟ้องส่วนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่นายพิสิฐศักดิ์นั้น จำเลยไม่ขัดข้องที่จะจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้ตามสิทธิในสัดส่วน 1 ใน 8 ส่วนของกองมรดกทั้งหมด แต่เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ยังเป็นผู้เยาว์และมีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายในทางทรัพย์สินแก่โจทก์ที่ 2 ได้ จำเลยจึงขอสงวนสิทธิในการแบ่งทรัพย์มรดกให้กับโจทก์ที่ 2 โดยนำเงินที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิจะได้รับจากกองมรดกทั้งหมดเข้าฝากธนาคารในนามของโจทก์ที่ 2 ไว้จนกว่าโจทก์ที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งเงินให้โจทก์ทั้งสองคนละ 1,499,769.12 บาทและให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองในโฉนดที่ดินเลขที่ 19640, 8837 ตำบลฉิมพลี อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ที่ดินมือเปล่าเลขสำรวจที่ 104/2538 หมู่ที่ 3ตำบลวังดัง อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน8 ห – 1719 กรุงเทพมหานคร 5 ช – 4395 กรุงเทพมหานคร, 9 ร – 9144 กรุงเทพมหานครและ 7 ป – 7996 กรุงเทพมหานคร โดยให้โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์รวมคนละ 1 ใน 8ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิคนละ 1 ใน 8 ส่วน ในหนี้ที่บุคคลภายนอกกู้ยืมไปจำนวน 150,000 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายพิสิฐศักดิ์ เอมระดีสามีโจทก์ที่ 1 นายภัคพันธ์ เอมระดี จำเลยและนางสาวอรอนรรฆ์ เอมระดี เป็นบุตรของร้อยตรีพยนต์ เอมระดี กับนางสิริเพ็ญ เอมระดี เจ้ามรดก ร้อยตรีพยนต์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2532 ส่วนนางสิริเพ็ญถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม2534 นายพิสิฐศักดิ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2538 โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพิสิฐศักดิ์ นางซอย สารำพึง เป็นมารดาของนางสิริเพ็ญต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางสิริเพ็ญ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ที่ 1 ถูกกำจัดมิให้ได้มรดกหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 บัญญัติว่า ทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย… เห็นว่าทายาทที่จะถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตามบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมายมุ่งเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะที่นางสิริเพ็ญถึงแก่กรรม นางสิริเพ็ญมีทายาทโดยธรรมที่จะมีสิทธิรับมรดกของนางสิริเพ็ญ 4 คน คือ นายพิสิฐศักดิ์สามีโจทก์ที่ 1 นายภคพันธ์ เอมระดี จำเลยนางสาวอรอนรรฆ์ เอมระดี และนางซอย สารำพึง มารดานางสิริเพ็ญ โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพิสิฐศักดิ์ แม้ว่าจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของนางสิริเพ็ญก็เพียงแต่ในฐานะผู้สืบสิทธิของนายพิสิฐศักดิ์คือรับมรดกเฉพาะส่วนของนายพิสิฐศักดิ์เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทายาทอันจะถูกกำจัดไม่ให้ได้มรดกของนางสิริเพ็ญ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า นายพิสิฐศักดิ์ได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกจำนวน 45,000 บาทแล้วหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่านายพิสิฐศักดิ์ได้ลงลายมือชื่อรับเงินส่วนแบ่งมรดกจำนวน 45,000 บาทไปแล้ว ตามสมุดบันทึกการรับเงินเอกสารหมาย ล.2 เห็นว่า ตามสมุดบันทึกการรับเงินเอกสารหมาย ล.2 ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเงินที่นายพิสิฐศักดิ์รับไปเป็นการรับเงินส่วนแบ่งมรดก ทั้งเป็นการรับไปเป็นคราว ๆ จึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่านายพิสิฐศักดิ์รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากจำเลยในลักษณะกู้ยืมเป็นครั้งคราวไม่เกี่ยวกับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของนางสิริเพ็ญ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยได้จ่ายเงินจำนวน 233,653.03 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพนางสิริเพ็ญหรือไม่ โดยจำเลยเบิกความว่าได้ถอนเงินจำนวน 230,502.85 บาท จากธนาคารออมสิน สาขาหน้าพระลาน และถอนเงินจำนวน 3,150.18 บาท จากธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาท่าเตียน นำไปใช้จ่ายในการติดตามทรัพย์มรดกและการจัดการทำศพของนางสิริเพ็ญส่วนค่าเช่านาจำนวน 7,000 บาท จำเลยเก็บรักษาไว้ เห็นว่า จำเลยเบิกความลอย ๆว่าได้ใช้เงินสองจำนวนแรกไปในการติดตามทรัพย์มรดกและในการจัดการทำศพนางสิริเพ็ญ จำเลยอ้างว่าได้ทำบันทึกไว้แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยส่งบันทึกค่าใช้จ่ายต่าง ๆสนับสนุนข้ออ้างของจำเลย ทั้งจำเลยยังเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่าได้นำเงินสองจำนวนแรกฝากไว้ในธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวัตร ส่วนเงินจำนวน7,000 บาท จำเลยเก็บรักษาไว้ จึงต้องถือว่าเงินทั้งสามจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนางสิริเพ็ญซึ่งต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน