แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตศาลแรงงานกลางเพื่อเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 52 โดยอ้างว่าผู้คัดค้านทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวของผู้ร้องหรือไม่และหากผู้คัดค้านทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีมีเหตุอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองด้วยการเลิกจ้างได้หรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาหลักฐานเพื่อฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องหรือไม่แล้วจึงพิจารณาต่อไปว่าสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองด้วยการเลิกจ้างหรือไม่เพียงใด จึงเป็นการวินิจฉัยที่ตรงประเด็นแห่งคดีแล้ว และไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าศาลต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการสอบสวนของผู้ร้องรายงานมา คำสั่งของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 51วรรคหนึ่งและมาตรา 52 แล้ว
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกผู้คัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องโดยนายธัชทอง วิริยเวชกุล อธิการบดีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยแก่บุคลากรของผู้ร้องรวม 13 คน ซึ่งรวมถึงผู้คัดค้านทั้งสองด้วย หลังจากคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้ว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2543 ผู้ร้องได้เชิญผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกรวม 4 คน ไปพบที่ห้องทำงานของอธิการบดี ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ฉกฉวยเอารายงานผลการสอบสวนซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องและวิ่งหนีออกจากห้องทำงานของอธิการบดี และผู้คัดค้านที่ 1 ขัดขวางไม่ให้อธิการบดีของผู้ร้องติดตามเอาเอกสารคืนเมื่อผู้ร้องมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้คัดค้านที่ 1 ทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรใช้ถ้อยคำไม่สุภาพและเป็นการส่อเสียดผู้บังคับบัญชาเมื่อสอบสวนเสร็จแล้วคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าการกระทำของผู้คัดค้านทั้งสองเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา แสดงกิริยากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาและเป็นการกระทำอันก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องขึ้นในสถาบัน ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง ขาดจริยธรรมของครู อาจารย์ ผู้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษาฝ่าฝืนระเบียบสถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก) ว่าด้วยบุคลากร พ.ศ. 2537 ผู้ร้องไม่อาจลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 ก่อน จึงขออนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ขัดขวางอธิการบดีของผู้ร้องที่จะติดตามเอกสารคืนจากผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะอ่านรายงานการสอบสวนได้ ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ให้การในลักษณะส่อเสียดต่อผู้บังคับบัญชาและมีสิทธิที่จะชี้แจงเหตุผลโต้แย้งข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เพียงแต่หยิบเอกสารรายงานผลการสอบสวนซึ่งวางอยู่ที่โต๊ะทำงานของอธิการบดีเพื่ออ่านดูรายละเอียดว่าข้อเท็จจริงใดที่ยืนยันว่าผู้คัดค้านที่ 2 กระทำผิด เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและพิจารณาตัดสินใจว่าจะยอมรับการลงโทษหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 2 มิได้มีเจตนาเอาเอกสารดังกล่าวไปโดยทุจริตเมื่ออ่านและตรวจสอบเสร็จแล้วก็นำเอกสารดังกล่าวไปคืนให้ นายธัชทอง วิริยเวชกุลมีความขัดแย้งกับผู้คัดค้านกับพวกและมีคำสั่งให้ลงโทษทางวินัยแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และนายประคอง สุคนธจิตต์ โดยฝ่าฝืนความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนซึ่งเห็นว่าผู้คัดค้านที่ 2 และนางประคองไม่มีความผิดทางวินัย การกระทำของผู้คัดค้านที่ 2 มิได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับตามที่ผู้ร้องอ้าง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยเกริกซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพแรงงานเกริกเสรีและเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้ร้องเป็นมหาวิทยาลัยใช้ชื่อว่ามหาวิทยาลัยเกริก มีระเบียบข้อบังคับว่าด้วยบุคลากรตามเอกสารหมาย ร.2 บุคลากรของผู้ร้องซึ่งเป็นอาจารย์จะมีจรรยาบรรณตามเอกสารหมาย ร.3 นายธัชทอง วิริยเวชกุลเข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีของผู้ร้องตามคำสั่งเอกสารหมาย ร.4 และทบวงมหาวิทยาลัยรับรองการแต่งตั้งตามเอกสารหมาย ร.5 ก่อนที่นายธัชทองจะเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีของผู้ร้องเมื่อประมาณปลายปี 2541 ผู้บริหารของผู้ร้องกับอาจารย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งมีข้อขัดแย้งในเรื่องการแต่งตั้งอธิการบดีของผู้ร้องจนมีการชุมนุมประท้วง นายสุชาญ โกศิน นายกสภามหาวิทยาลัยเคยมีหนังสือขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยแก่อาจารย์และเจ้าหน้าที่รวม 13 คน ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง เมื่อนายธัชทองเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี นายสุชาญเคยมีหนังสือขอให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามเอกสารหมาย ร.6 ต่อมาผู้ร้องโดยนายธัชทองได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามเอกสารหมาย ร.8 คณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนและทำรายงานผลการสอบสวนไว้ตามเอกสารหมาย ร.9 ต่อมาวันที่11 เมษายน 2543 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ผู้คัดค้านทั้งสอง นางประคอง สุคนธจิตต์และนายฉัตรมงคล แน่นหนา ได้เข้าพบนายธัชทองที่ห้องทำงาน ผู้คัดค้านที่ 2 ได้นำเอกสารซึ่งเป็นรายงานผลการสอบสวนและเอกสารอื่นรวมทั้งหมด 32 แผ่น ไปจากความครอบครองของนายธัชทอง หลังจากนั้นเวลาประมาณ 13.30 นาฬิกา จึงนำมาคืนให้ต่อมาวันที่ 18 เมษายน 2543 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ประชุมผู้บริหารและมีมติเห็นว่าการกระทำของผู้คัดค้านทั้งสองเป็นการกระทำผิดทางวินัยและทางอาญาตามเอกสารหมาย ร.12 และมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนตามเอกสารหมาย ร.13 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกกล่าวหาต่อคณะกรรมการสอบสวนตามเอกสารหมาย ร.15 คณะกรรมการสอบสวนได้ทำรายงานผลการตรวจสอบไว้ตามเอกสารหมาย ร.16 แล้ววินิจฉัย การที่ผู้คัดค้านที่ 2 หยิบเอารายงานผลการสอบสวนที่วางไว้ที่โต๊ะทำงานของนายธัชทองไปพลิกอ่านเป็นผลมาจากการที่ผู้คัดค้านที่ 2 เข้าใจว่าตนเองถูกลงโทษโดยไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระด้างกระเดื่องไม่เชื่อฟังหรือขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ดีเมื่อนายธัชทองห้ามไม่ให้ผู้คัดค้านที่ 2 อ่านเอกสารและติดตามเอาเอกสารคืน ผู้คัดค้านที่ 2 สมควรที่จะคืนเอกสารดังกล่าวให้แก่อธิการบดี ไม่สมควรที่จะนำเอกสารอันเป็นรายงานผลการสอบสวนออกไปนอกห้องทำงานของอธิการบดีเพราะเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปกปิด การกระทำของผู้คัดค้านที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควรที่อาจารย์จะพึงปฏิบัติต่ออธิการบดีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่าเป็นการไม่เชื่อฟังและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาฝ่าฝืนระเบียบสถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก) ว่าด้วยบุคลากร พ.ศ. 2537 เอกสารหมาย ร.2 ข้อ 27.2 แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 2 นำเอกสารไปอ่านแล้วก็นำกลับมาคืนให้แก่อธิการบดีของผู้ร้องโดยไม่ปรากฏว่ามีการนำเอกสารดังกล่าวไปเผยแพร่หรือถ่ายสำเนาเก็บไว้หรือกระทำการใด ๆ ในทางที่แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 2 มีเจตนาจะทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอีกทั้งผู้คัดค้านที่ 2 ทำงานกับผู้ร้องมาตั้งแต่ปี 2527 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่นรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย รองคณบดีคณะศิลปศาสตร์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และศิลปศาสตร์ เป็นต้น แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 2 ได้ทำงานก่อประโยชน์ให้แก่ผู้ร้องไม่น้อย ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 2 ได้กระทำผิดและเคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน เมื่อพิจารณาจากการกระทำผิดของผู้คัดค้านที่ 2 แล้ว เห็นสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากอธิการบดีพยายามแย่งเอกสารคืนและผู้คัดค้านที่ 2 ได้นำเอกสารออกจากห้องนั้น ทุกคนที่อยู่ในห้องยืนขึ้น ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งอยู่หน้าโต๊ะทำงานของอธิการบดีได้ลุกขึ้นยืนด้วย แม้การยืนของผู้คัดค้านที่ 1 จะเป็นการกั้นขวาง มีผลทำให้อธิการบดีติดตามเอาเอกสารคืนไม่สะดวก แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้ใช้กำลังกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของอธิการบดีหรือกล่าวถ้อยคำข่มขู่ว่าจะใช้กำลังทำร้าย หากอธิการบดียังคงติดตามเอาเอกสารคืน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ปรากฏด้วยว่าผู้คัดค้านกับพวกได้วางแผนตระเตรียมกันมาก่อน แต่พฤติการณ์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีโดยที่ไม่มีใครคาดคิด การขวางกั้นอธิการบดีไม่ให้ติดตามเอาเอกสารคืนจากผู้คัดค้านที่ 2 จึงอาจทำไปเพื่อให้เหตุการณ์ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงไม่ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ลุกขึ้นยืนและมีผลทำให้อธิการบดีติดตามเอาเอกสารคืนไม่สะดวกยังไม่พอถือได้ว่าเป็นการกระทำที่กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งโดยชอบของผู้บังคับบัญชาตามที่ผู้ร้องอ้าง ในส่วนที่เกี่ยวกับคำให้การชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการสอบสวนตามเอกสารหมาย ร.15 นั้น เมื่ออ่านข้อความในเอกสารดังกล่าวแล้วสรุปได้ว่าเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกล่าวหาที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการฉกฉวยเอาเอกสารปกปิดของมหาวิทยาลัยไปจากมือของอธิการบดีโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ถ้อยคำบางตอนจะมีข้อความไม่เหมาะสมบ้าง เช่น ข้อความในตอนท้ายที่ว่าการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนครั้งนี้เป็นการกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมและเป็นปฏิบัติการของหมาป่ากับลูกแกะนั้น ก็มีแต่เพียงส่วนน้อย และเมื่ออ่านประกอบกับข้อความอื่น ๆ แล้วยังไม่พอที่จะถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นให้ร้ายหรือส่อเสียดผู้บังคับบัญชาดังที่ผู้ร้องอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังที่ผู้ร้องอ้าง จึงมีคำสั่งอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเกริกผู้ร้อง ลงโทษตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และให้ยกคำร้องในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องเพียงประการเดียวว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้ร้องอุทธรณ์ว่าคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านทั้งสองกระทำผิดหรือไม่ผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องซึ่งผู้ร้องมิได้ร้องขอให้วินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตรงประเด็น และนอกเหนือจากที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอนอกจากนี้เมื่อคณะกรรมการฯ ของผู้ร้องเห็นว่า ผู้คัดค้านทั้งสองทำผิดแล้วศาลต้องฟังไปตามนั้น จะมาพิจารณาใหม่ว่าผู้คัดค้านทั้งสองไม่ผิดไม่ได้ นั้น เห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตศาลแรงงานกลางเพื่อเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 โดยอ้างว่าผู้คัดค้านทั้งสองกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าผู้คัดค้านทั้งสองกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องหรือไม่และหากผู้คัดค้านทั้งสองกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกรณีมีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองด้วยการเลิกจ้างได้หรือไม่เพียงใดฉะนั้นการที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนเพื่อฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องหรือไม่ แล้วจึงพิจารณาต่อไปว่าสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองด้วยการเลิกจ้างหรือไม่เพียงใดนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยที่ตรงประเด็นแห่งคดีตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแล้ว ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าศาลต้องฟังข้อเท็จจริงไปตามที่คณะกรรมการฯ ของผู้ร้องฟังมาดังที่ผู้ร้องอ้าง คำสั่งของศาลแรงงานกลางในคดีนี้จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่งและมาตรา 52 อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน