คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2703-2713/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสามารถกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามและการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานของจำเลยเองได้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 มาตรา 9(1) ถึง (7) และมาตรา 11(1) ถึง (3) จำเลยจึงสามารถกำหนดให้พนักงานหญิงของจำเลยพ้นจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ได้ โจทก์จึงต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลยมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จำเลยมีข้อบังคับในการทำงานให้พนักงานพ้นสภาพการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อพนักงานหญิงอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ พนักงานชายอายุครบ60 ปีบริบูรณ์ โดยให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่วันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้น ต่อมาปี 2541จำเลยเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ซึ่งมาตรา 11 บัญญัติให้พนักงานพ้นจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุ เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 30 กันยายนของปีนั้น เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2542จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 พ้นจากการเป็นพนักงานในวันที่ 1 ตุลาคม 2542เนื่องจากเกษียณอายุและวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 7 ถึงที่ 11 พ้นจากการเป็นพนักงานในวันที่ 1 ตุลาคม 2543 เนื่องจากเกษียณอายุโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2542 และโจทก์ที่ 7ถึงที่ 11 มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2543 การสั่งให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดพ้นจากการเป็นพนักงานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 จนถึงวันฟ้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 และจ่ายเงินจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับถัดจากวันฟ้องแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 จนกว่าจะรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เข้าทำงาน หากจำเลยไม่รับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เข้าทำงานให้ชำระตลอดไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2547 กับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 จนถึงวันฟ้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 7ถึงที่ 11 และจ่ายเงินจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับถัดจากวันฟ้องแก่โจทก์ที่ 7ถึงที่ 11 ทุกเดือนจนกว่าจะรับโจทก์ที่ 7 ถึงที่ 11 เข้าทำงาน หากจำเลยไม่รับโจทก์ที่ 7ถึงที่ 11 เข้าทำงานให้ชำระตลอดไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2548 ทั้งนี้ตามจำนวนในคำฟ้องแต่ละสำนวน

จำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนให้การว่า แม้จำเลยจะเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้จำเลยได้รับยกเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ้างเดิมของจำเลย ระเบียบข้อบังคับสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเกษียณอายุของพนักงานหญิง จึงยังใช้ระเบียบเดิมซึ่งกำหนดให้พนักงานหญิงพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเกษียณอายุจึงเป็นคำสั่งตามระเบียบข้อบังคับสภาพการจ้างและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งโจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวโดยรับเอาเงินสะสมเงินสมทบ และค่าชดเชยไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งสิบเอ็ด จึงสิ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลย จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและจำเลยไม่สามารถรับโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกลับเข้าทำงานได้เพราะเป็นการขัดต่อระเบียบข้อบังคับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้พนักงานพ้นจากตำแหน่งตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น จำเลยได้กำหนดการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานหญิงไว้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จึงเป็นกรณีที่ได้กำหนดการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานไว้แน่ชัดแล้ว โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงครบเกษียณอายุเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ ไม่ใช่ 60 ปีบริบูรณ์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลย เดิมจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีข้อบังคับการทำงานเกี่ยวกับการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเพราะเกษียณอายุกรณีพนักงานหญิงว่าพนักงานหญิงที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในวันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้น ต่อมาปี 2541 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าถือหุ้นของจำเลยเกินร้อยละห้าสิบทำให้จำเลยเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 จึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2542 โจทก์ที่ 7 ถึงที่ 11 มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2543 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 พ้นจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม2542 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 7 ถึงที่ 11 พ้นจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2543 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับของจำเลยหรือไม่ เห็นว่ามาตรา 9 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 เป็นบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งของพนักงานของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเป็นการทั่วไปโดยยอมให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งของพนักงานของตนนอกเหนือจากที่กำหนดในมาตรา 9 และมาตรา 11 ไว้เป็นการเฉพาะได้ดังจะเห็นได้จากความในตอนต้นของมาตรา 9 ที่บัญญัติว่า “พนักงานของรัฐวิสาหกิจนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ด้วย…” และความในตอนท้ายของมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แล้ว พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อ…” บทบัญญัติในมาตรา 9 และมาตรา 11 ใช้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่งทุกคนไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลใดจึงมีผลใช้บังคับ จำเลยจึงสามารถกำหนดคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานของจำเลยเองได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับที่กำหนดไว้ในมาตรา 9(1) ถึง (7) และมาตรา 11(1) ถึง (3) ที่มาตรา 9(2)บัญญัติถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเรื่องอายุของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่ามีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ นั้นเป็นการกำหนดอายุขั้นสูงของผู้มีคุณสมบัติเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้เท่านั้น มิได้ห้ามรัฐวิสาหกิจไม่ให้กำหนดให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์พ้นจากการเป็นพนักงาน จำเลยจึงสามารถกำหนดให้พนักงานหญิงของจำเลยพ้นจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ได้ส่วนความในมาตรา 11 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “สำหรับการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้พ้นเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” นั้น เป็นกรณีต่อเนื่องมาจากความในมาตรา 9(2) ซึ่งเป็นเรื่องการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานรัฐวิสาหกิจเนื่องจากเกษียณอายุกรณีทั่ว ๆ ไป อันมุ่งประสงค์เพื่อกำหนดวันพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุของพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้เท่านั้นโดยให้ถือเอาวันสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบเกษียณเป็นวันพ้นจากตำแหน่ง ไม่ใช่บทบัญญัติเรื่องหลักเกณฑ์การพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุเมื่ออายุครบ55 ปีบริบูรณ์ตามข้อบังคับของจำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share