คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า โดยสภาพธรรมชาติของเกลือจะมีความชื้นในตัวเอง หากวางทับซ้อนกันเป็นจำนวนมากจะทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมี เมื่อประสบกับความร้อนจากแสงแดดย่อมทำให้สินค้าเกลือเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ในระหว่างการขนส่งเรือได้ประสบพายุทำให้น้ำเข้าเรือจึงเป็นเหตุพ้นวิสัย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ประกอบด้วยมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้จำเลยที่ 1 จะได้ให้การว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากอุบัติเหตุแห่งท้องทะเลที่ใช้เดินเรือไว้ด้วย ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะหยิบยกขึ้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 โจทก์รับประกันภัยสินค้าเกลือแห้งจำนวน 640 กระสอบใหญ่ น้ำหนัก 800 เมตริกตัน และเกลือชื้นจำนวน 14,000 กระสอบ น้ำหนัก 700 เมตริกตันให้แก่บริษัทเกลือเจริญ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในวงเงิน 118,910 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 36.10 บาท คิดเป็นเงินไทย 4,292,651 บาท และบริษัทเกลือเจริญ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ทำการขนส่งสินค้าเกลือทั้งสองชนิดจำนวนดังกล่าวจากกรุงเทพมหานครไปยังท่าเรือมะละกา ประเทศมาเลเซีย เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งคือบริษัทเส็ง ฮิน บราเธอร์ส เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยใช้เรือเดินทะเลชื่อโสณมัย ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 หรือที่จำเลยทั้งสองนำมาร่วมขนส่งเพื่อหาประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของใบตราส่งโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกใบตราส่งแต่อ้างว่าออกในฐานะตัวแทน ซึ่งความจริงจำเลยทั้งสองร่วมกันขนส่ง บริษัทเกลือเจริญ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับชำระราคาสินค้าแล้วจึงได้โอนใบตราส่งใบกำกับสินค้า ใบบรรจุหีบห่อ และกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับตราส่งโดยผ่านทางธนาคาร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2541 เรือโสณมัยเดินทางไปถึงท่าเรือมะละกาแล้วขนถ่ายสินค้าส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งเสร็จเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2541 แต่สินค้าได้รับความเสียหายปนเปื้อนสนิม จับตัวเป็นก้อนแข็งและเปียกน้ำ สินค้าเกลือแห้งเสียหาย 193 กระสอบ สินค้าเกลือชื้นเสียหาย 4,856 กระสอบ ค่าเสียหายคิดเป็น 65 เปอร์เซ็นของสินค้าทั้งหมดเป็นเงิน 24,555.06 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทย 886,437.67 บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่สินค้าอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่ง โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้ความระมัดระวังไม่เอาใจใส่ในการขนส่ง นำเรือที่มีสภาพเก่าชำรุดบกพร่องมาบรรทุกสินค้า โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 23,960.52ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 889,414.50 บาท (1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 37.12 บาท) ให้แก่ผู้รับตราส่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2542 โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่ง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน917,741.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน889,414.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นเพราะจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าเรือโสณมัยไปในลักษณะเป็นการเช่าเรือเปล่า (Bare Boat) ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้าพิพาท เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขนส่งและถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเรือโสณมัยตามระยะเวลาในสัญญาเช่าเรือ จำเลยที่ 1 ได้รับเพียงค่าเช่าเรือไม่ได้มีส่วนได้เสียในค่าระวาง จำเลยที่ 2 นำแบบพิมพ์ใบตราส่งของจำเลยที่ 1 ไปออกให้แก่ผู้ส่งโดยพลการ จำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องด้วยความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเพราะผู้ส่งเองนำสินค้าไม่ได้มาตราฐานและคุณภาพตามที่กำหนด ทำให้สินค้าเป็นสนิมและจับตัวเป็นก้อนเมื่อเวลาผ่านไป เรือโสณมัยได้ผ่านการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับเป็นสากล และมีใบรับรองเป็นหลักประกันนายเรือและลูกเรือได้ดูแลเอาใจใส่ในการขนส่งเป็นอย่างดีความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากเรือต้องผจญพายุฝนและคลื่นทะเลจัดซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยหรือภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือหรือเหตุอื่นใดที่มิใช่ความผิดหรือความประมาทเลินเล่อหรืออยู่ในความรู้เห็นของผู้ขนส่ง และมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อ ของตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า สินค้าพิพาทเกิดความเสียหายเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งเอง และพบความเสียหายภายหลังจากที่เรือโสณมัยและหรือจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว ความเสียหายจึงมิได้เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเรือโสณมัยได้รับการตรวจสอบดูแลอยู่เป็นประจำและมีความพร้อมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์รวมทั้งตัวเรืออยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้ขนส่งทางทะเลได้เป็นอย่างดี ไม่ปรากฏว่าเรือโสณมัยเสียหายเนื่องจากตัวเรือรั่วซึมและมีน้ำเข้าตัวเรือในระหว่างการขนส่งสินค้า ความเสียหายของสินค้าพิพาทจึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อและเป็นความผิดของผู้รับตราส่งหรือตัวแทนผู้รับตราส่งที่นำรถบรรทุกมาขนสินค้าในระหว่างฝนตกเองจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 889,414.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน28,327.31 บาท และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์รับขนส่งสินค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือเดินทะเลชื่อโสณมัย เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2541 บริษัทเกลือเจริญ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ส่งประสงค์จะส่งสินค้าเกลือแห้งจำนวน 640 กระสอบใหญ่ น้ำหนัก 800 เมตริกตัน และเกลือชื้นจำนวน 14,000 กระสอบ น้ำหนัก 700 เมตริกตัน ไปให้แก่บริษัทเส็ง ฮิน บราเธอร์สเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ซื้อที่รัฐเซลังงอ ประเทศมาเลเซีย ผู้ส่งได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือมะละกา ประเทศมาเลเซีย โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าดังกล่าวในระหว่างการขนส่งจากผู้ส่งในวงเงิน 118,910 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 2 ได้ออกใบตราส่ง ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยใช้แบบพิมพ์ใบตราส่งของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อเป็นผู้ขนส่งโดยตีตราประทับของจำเลยที่ 2 ซึ่งตราประทับดังกล่าวมีข้อความภาษาอังกฤษว่า AS AGENTจำเลยที่ 2 ได้รับสินค้าพิพาทบรรทุกลงเรือโสณมัยซึ่งออกเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2541 เดินทางไปถึงท่าเรือมะละกา ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2541 และขนถ่ายสินค้าส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งเสร็จในวันที่ 18 ธันวาคม 2541 ปรากฏว่าสินค้าบางส่วนได้รับความเสียหาย ผู้ส่งได้แจ้งมายังโจทก์ โจทก์ได้แจ้งให้บริษัทซีมิส จำกัดทำการตรวจสอบ บริษัทซีมิส จำกัด ได้มอบหมายให้บริษัทแม็คลาเรนส์ จำกัดที่ประเทศมาเลเซียดำเนินการสำรวจความเสียหาย บริษัทดังกล่าวได้สำรวจความเสียหายของสินค้าและรายงานว่ามีสินค้าเกลือแห้งจำนวน 193 กระสอบน้ำหนัก 241.25 เมตริกตัน และเกลือชื้นจำนวน 4,856 กระสอบ น้ำหนัก242.80 เมตริกตัน เปียกน้ำ เปรอะเปื้อนสนิม ชื้นและจับตัวเป็นก้อน คำนวณเป็นค่าเสียหายรวม 24,555.06 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2542 โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่งไปเป็นเงิน 23,960.52 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 889,414.50 บาท…

ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โดยสภาพธรรมชาติของเกลือจะมีความชื้นในตัวของมันเอง หากวางทับซ้อนกันเป็นจำนวนมากจะทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมี เมื่อประสบกับความร้อนจากแสงแดดย่อมทำให้สินค้าเกลือเกิดความเสียหายด้วยตัวของมันเอง นอกจากนี้ปรากฏว่าในระหว่างการขนส่งสินค้าพิพาท เรือโสณมัยได้ประสบพายุในทะเลทำให้น้ำเข้าเรือจึงเป็นเหตุพ้นวิสัย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า ข้อที่จำเลยที่ 2ยกขึ้นอุทธรณ์จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เพียงว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทมิได้เกิดในระหว่างการขนส่งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ประกอบด้วยมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแม้จำเลยที่ 1 จะได้ให้การต่อสู้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากอุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือไว้ด้วย และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะหยิบยกขึ้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 889,414.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่28 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 28,327.31 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ส่วนในชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ยกเว้นค่าทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับและให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความจำนวน 5,000 บาทแทนโจทก์

Share